นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่ากระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์ เศรษฐกิจหรือจีดีพีไทย
ปี 2565 จาก 4% เหลือ 3.5% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนมกราคม 2565 เนื่องจากผลกระทบ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยชะลอตัวโดยเฉพาะสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาจึงกระทบให้ราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 อยู่ที่ 5.0% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จากปี 2564 ที่ขยายตัว 1.6% ต่อปี ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 4.3% ต่อปี ภาคการท่องเที่ยว ขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทย 6.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากจากปี 2564 ที่มีเพียง 4 แสนคน ขณะที่การส่งออกสินค้า คาดว่าขยายตัว 6.0% ต่อปี
สำหรับการดำเนินนโยบายของภาครัฐนับว่ามีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านการใช้จ่ายงบประมาณปี 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท และงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปี 2565 วงเงิน 3.18 แสนล้านบาท รวมทั้งเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาทโดยคาดว่าการลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.6% ต่อปี ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการลงทุนภายในประเทศดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% ต่อปี
ด้านเสถียรภาพภายในประเทศ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.0% ต่อปี แต่การปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าดังกล่าวยังคงเป็นผลจากราคาในกลุ่มพลังงานและอาหารสดเป็นสำคัญ ซึ่งรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพในภาคขนส่ง รวมถึงดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงานและกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ 1.ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนกระทบต่อราคาพลังงาน 2.ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาด COVID-19 และอาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต 3.ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก เช่นการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อสูงอาจทำให้เกิดการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศและส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท 4.ปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานการผลิตเช่น การขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และ 5.ตลาดแรงงานยังคงฟื้นตัวไม่เต็มที่เป็นข้อจำกัดสำหรับการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน และความสามารถในการชำระหนี้สินของภาคครัวเรือนที่ยังคงมีความเปราะบาง
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะติดตามและประเมินผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังและการเงินที่เหมาะสมเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ
สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย อย่างไรก็ดีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและระดับราคาสินค้าภายในประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี