นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส.คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤษภาคม 2565 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ราคาอยู่ที่ 8,546-8,719 บาท/ตันเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.08-3.14%ข้าวเปลือกเจ้า หอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 11,904-12,130 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.61-3.55% เนื่องจากภาวะความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ประเทศผู้นำเข้ามีความต้องการข้าวเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารและใช้เป็นสินค้าทดแทนข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนตัว ส่งผลให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่8,793-8,830 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.20-0.62% เนื่องจากข้าวเหนียวนาปรังออกสู่ตลาดลดลง
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อยู่ที่ 9.62-9.69 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.28-1.06% เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์ยังคงเพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นมีราคาสูง น้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์กราคา 19.38-19.60 เซนต์/ปอนด์(14.49-14.66 บาท/กก.) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.21-1.32% เนื่องจากน้ำมันดิบที่สูงขึ้น ส่งผลดีต่อราคาเอทานอล ทำให้ผู้ประกอบการเพิ่มสัดส่วนการนำอ้อยไปผลิตเอทานอล ประกอบกับการเริ่มเก็บเกี่ยวอ้อยบราซิลล่าช้าและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีนต้องชะลอการนำเข้าน้ำตาลทรายและผลผลิตน้ำตาลทรายจากอินเดีย
ยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 อยู่ที่ 62.27-63.34 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.61-2.34% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากความกังวลต่อมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปส่งผลให้ความต้องการยางธรรมชาติทดแทนยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้นและนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า รวมถึงผลผลิตยางพาราในตลาดน้อย
มันสำปะหลังอยู่ที่ 2.40-2.50 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.84-5.04% เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการในประเทศและส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อทำให้ความต้องการใช้มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น
กุ้งขาวแวนนาไมอยู่ที่ 153.55-155.51 บาท/กก. ราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.02-2.31%เนื่องจากภาวะต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรลดปริมาณการเลี้ยงกุ้งลงขณะที่ความต้องการส่งออกเพิ่มขึ้น การผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ส่งผลดีต่อการบริโภคกุ้งในประเทศ
สุกรอยู่ที่ 93.43-95.83 บาท/กก.เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.11-6.78% เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสุกรเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น อากาศร้อนทำให้สุกรเจริญเติบโตช้า ผลผลิตเนื้อสุกรออกสู่ตลาดน้อย ส่งผลให้ราคาเพิ่มต่อเนื่อง และโคเนื้อ ราคา 100-105 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.32-5.34% เนื่องจากมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเฉลิมฉลองเทศกาลฮารีรายออิดิ้ลฟิตรี หลังการถือศีลอดของชาวไทยมุสลิม ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อโคเพิ่มขึ้น
สินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน 9.63–9.75 บาท/กก. ลดลงจากเดือนก่อน 1.11-2.33% เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมากในช่วงไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน 2565) อยู่ที่ 5.75 ล้านตัน คิดเป็น 32.73% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดต่อปี นอกจากนี้รัฐมีนโยบายปรับสัดส่วนไบโอดีเซลจาก 7% เหลือ 5% ส่งผลให้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มสูงขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี