นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปก (APEC Senior Finance Officials’ Meeting: APEC SFOM) เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น ว่า ที่ประชุมได้หารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประเด็นด้านเศรษฐกิจ
โดยผู้แทนจาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ได้รายงานการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.6 ต่อปี ซึ่งชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.1 ต่อปี ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกในปี2565 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี ที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี จากปัจจัยเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แนวโน้มนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก อันเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19ในช่วงที่ผ่านมา
ในการนี้ นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุลที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะผู้แทนไทยได้นำเสนอสถานการณ์และทิศทางเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าในปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0-3.5 ต่อปี โดยขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัว การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจากการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทย และนโยบายการคลังที่สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ส่วนที่ทำเนียบรัฐบาลวันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ ฟิทช์ (Fitch) สถาบันจัดอันดับเครดิต ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือ(Sovereign Credit Rating) ของประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) อย่างต่อเนื่อง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากการคาดการณ์ของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (Fitch Ratings) เมื่อช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ว่าผลประกอบการของบริษัทในไทยจะมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2565 ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา Fitch เปิดเผยถึงการคงอันดับความน่าเชื่อถือของไทยที่มีเสถียรภาพระดับ BBB+ ว่าเป็นผลจากการบริหารจัดการด้านการคลังอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลมีการออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งมาตรการเปิดประเทศที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฟื้นตัว เกิดทิศทางเชิงบวกในภาคเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนยิ่งขึ้น
โดย Fitch คาดการณ์ว่า ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ในปี 2565 ประเทศไทยจะขาดดุลงบประมาณลดลง สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 55.4 ต่อ GDP เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 จากการฟื้นตัวภายในประเทศและการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นจาก 6.5 ล้านคน ในปี 2565 เป็น 22 ล้านคนในปี 2566 ในส่วนของภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ประเทศไทยยังแข็งแกร่งมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงและเพียงพอต่อการใช้จ่าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี