จากการที่ภาครัฐประกาศให้พื้นที่ 77 จังหวัดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถขยายเวลาเปิดปิดกิจการให้กลับสู่ภาวะปกติได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไปรวมไปถึงยกเลิกไทยแลนด์พาส ช่วยให้การท่องเที่ยวในประเทศไทยกลับมาคึกคักมากขึ้น
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics จึงประเมินว่า จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศจะสูงถึง 188.1 ล้านคน/ครั้ง หรือขยายตัว 161.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีรายได้จากการท่องเที่ยวราว 7.2 แสนล้านบาท หรือ ขยายตัว 228% สะท้อนจากช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 ที่เพิ่มถึง 87.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 สร้างรายได้ 2.2 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 82.9%
สำหรับครึ่งหลังของปี 2565 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นทำให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น อาจบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะราคาพลังงานที่สูงสุดในรอบเกือบทศวรรษกระทบการท่องเที่ยวของคนไทยกว่า 70% ที่นิยมเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่ม 10% ต่อคนต่อวัน
ขณะเดียวกัน โควิด-19 ทำให้เทรนด์การท่องเที่ยวเปลี่ยนไปจากการเสาะหาจุดเช็คอินสถานที่เที่ยวยอดนิยม (Mass Travel) เป็น “การท่องเที่ยวระยะใกล้แต่ให้ประสบการณ์แปลกใหม่” (Niche Travel) เห็นได้จากดัชนีการเคลื่อนที่ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ค ที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาคและกระจายไปยังเมืองรองมากขึ้น สอดคล้องกับจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยที่หันมาท่องเที่ยวเมืองรองในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 สูงถึง 23.3 ล้านคน/ครั้ง หรือ 30% ของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยทั้งหมด เมืองรองที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย สมุทรสงคราม ลพบุรี และสุพรรณบุรีตอบโจทย์ทั้งเรื่องการหลีกเลี่ยงความแออัดของเมืองท่องเที่ยวหลัก การให้ประสบการณ์และเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น ค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า 20-40% เมื่อเทียบกับเมืองหลักในภูมิภาคเดียวกัน
ดังนั้นนโยบายการส่งเสริม “ท่องเที่ยวเมืองรอง”จึงควรเน้นทั้งด้านอุปสงค์ของการท่องเที่ยว เช่น การนำค่าใช้จ่ายเที่ยวเมืองรองมาลดหย่อนภาษี โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ควบคู่กับการพัฒนาด้านอุปทานอย่างยั่งยืน ทั้งการปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวให้สะท้อนเอกลักษณ์ท้องถิ่นความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ในช่วงที่หลายประเทศล็อกดาวน์จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้นายจ้างทั่วโลกต้องปรับตัวและนำเทคโนโลยีและรูปแบบการทำงานผ่านระบบออนไลน์จนเกิดเทรนด์การทำงานจากที่ไหนก็ได้ในยุคดิจิทัล (Digital Nomad)ได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ได้รับการยอมรับในวงกว้างเห็นได้จากปัจจุบันมีการออกวีซ่าประเภท “Digital Nomad” ต้อนรับนักเดินทางกลุ่มนี้แล้วกว่า 20 ประเทศทั่วโลก
ttb analytics มองว่ากลุ่ม Digital Nomad มีจุดเด่นเรื่องระยะเวลาพำนักที่ยาวนานกว่ากลุ่มอื่นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานยุค Millennial (อายุระหว่าง 24-37 ปี) ที่มีกำลังซื้อสูง หัวใจสำคัญของตลาดกลุ่มนี้คือ “การสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน” เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศทำงานในช่วงสั้นๆ และถือโอกาสท่องเที่ยว จึงทำให้โรงแรมที่พักขนาดกลางและขนาดเล็กในพื้นที่รอบนอกหรือเมืองรอง ซึ่งได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่เป็นส่วนตัวมีค่าใช้จ่ายต่ำเหมาะแก่การพักผ่อนระยะยาวผู้ประกอบการจึงควรปรับปรุงที่พักให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงพอในราคาที่จับต้องได้ การนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาใช้เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการให้บริการ การสร้างความพร้อมด้านเทคโนโลยีและบริการอินเตอร์เนต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี