ธปท.เผยผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจ ภาคธุรกิจไทย เดือนมิถุนายน 2565 จากผลกระทบ COVID-19 ระดับการฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อย หลังปัญหาการขนส่งและขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตบรรเทาลง แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวม ส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นกดดันกำลังซื้อ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานผลกระทบจากไวรัส COVID-19ต่อภาคธุรกิจไทย (เป็นผลการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจ ระหว่างวันที่ 1-24 มิถุนายน 2565) โดยในเดือนมิถุนายน 2565 ระดับการฟื้นตัวของธุรกิจโดยรวมปรับดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนเมษายน โดยปัญหาการขนส่งและขาดแคลนชิ้นส่วนในภาคการผลิตบรรเทาลงบ้าง หลังจากที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีนได้กลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง ส่วนการฟื้นตัวของภาคที่มิใช่การผลิต ปรับดีขึ้นจากนโยบายการเปิดประเทศที่ผ่อนคลายขึ้น และความกังวลต่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่น้อยลง
ทั้งนี้กำลังซื้อที่อ่อนแอเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการฟื้นตัวของธุรกิจในภาพรวม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นกดดันกำลังซื้อ ปัญหาการขนส่งยังไม่กลับสู่ระดับปกติที่เคยเป็นอุปสรรคสำคัญอันดับแรกของภาคการผลิตในครั้งก่อน เริ่มคลี่คลายลง แต่อย่างไรก็ตามปัญหาด้านอุปทานทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบ และราคาที่สูงขึ้น กลายเป็นอุปสรรคเพิ่มขึ้นของธุรกิจภาคการผลิตในเดือนมิถุนายน 2565 นี้ สำหรับธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิต แม้ความกังวลต่อปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ลดลง แต่ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญอันดับ 2 ที่กดดันให้ธุรกิจยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19
อย่างไรก็ตามการคาดการณ์การฟื้นตัวของธุรกิจสู่ระดับปกติในภาพรวมมีแนวโน้มเร็วขึ้น เมื่อเทียบกับการสำรวจรอบก่อน และธุรกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ภายในครึ่งหลังของปี 2565 นี้ มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทั้งในภาคการผลิต และภาคที่มิใช่การผลิต สำหรับสัดส่วนของธุรกิจที่กลับสู่ระดับปกติแล้วส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มผลิตเหล็ก ผลิตยานยนต์ และผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ดีธุรกิจที่มิใช่ภาคการผลิต โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ ยังมีสัดส่วนของธุรกิจที่กลับเข้าสู่ระดับปกติแล้วในระดับที่ต่ำมาก
โดยผลการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจ ยังระบุอีกว่า ธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องสำรองใกล้เคียงกับเดือนเมษายน แต่มีบางธุรกิจในภาคการผลิตมีสภาพคล่องลดลงจาก 1-2 ปี เป็น 6 เดือน - 1 ปี อาทิ การผลิตเหล็ก การผลิตเคมี ปิโตรเลียม ยาง และพลาสติก เนื่องจากราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งคาดว่าเกิดจากการสะสมวัตถุดิบคงคลังมากขึ้น ทั้งเพื่อบรรเทาปัญหาการขนส่ง และเพื่อรับมือกับต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับจำนวนและรายได้เฉลี่ยของแรงงานโดยรวมนั้น ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวของธุรกิจ โดยธุรกิจส่วนใหญ่ลดการใช้นโยบายปรับเปลี่ยนการจ้างงาน เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ลดลงมาก และมีการผ่อนคลายนโยบายการเปิดประเทศเพิ่มเติม ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่เริ่มกลับมาดำเนินงานตามปกติ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ มีการให้พนักงานใช้วันลาประจำปีเพิ่มขึ้น คาดว่าเป็นผลจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นมาก และการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ที่ส่งผลให้กิจกรรมการก่อสร้างบางส่วนชะลอลง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี