สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เผยผลสำรวจความเชื่อมั่น(Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนมิถุนายน 2565 ในภาพรวมพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก Retail Sentiment Index (RSI) เดือนมิถุนายนลดลงมาอยู่ที่ 48.9 ลดลง 4.4 จุด เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมที่ 53.3 จุด ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงส่งผลมาจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ ผู้ประกอบการไม่มีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ แม้ว่ามีแนวโน้มสัญญาณที่ดีในการออกไปทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจนอกบ้านเพิ่มมากขึ้น แต่ความถี่ในการจับจ่ายกลับลดลง
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 4.4 จุด จากระดับ 58.7 จุดในเดือนพฤษภาคมมาที่ 54.3 จุด ในเดือนมิถุนายน แสดงถึงความกังวลต่อแนวโน้มต้นทุนการดำเนินธุรกิจและราคาสินค้าที่เพิ่มต่อเนื่อง รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่คาดว่าจะถูกปรับลดลง ภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่าผลการสำรวจรอบนี้พบว่าการเพิ่มขึ้นของยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ 6.5 จุด อยู่ที่ระดับ 52.2 เป็นการเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้นขณะที่การทำกิจกรรมนอกบ้านเพิ่มขึ้น แต่ความถี่ในการจับจ่ายกลับลดลง 5 จุด อยู่ที่ระดับ 50.0และยอดขายสาขาเดิม (SSSG) ลดลง 6.5 จุดอยู่เหนือค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 เพียงเล็กน้อยบ่งบอกถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่ชะลอการจับจ่ายกำลังซื้อที่อ่อนแอทำให้การจับจ่ายโดยรวมไม่เติบโตผู้บริโภคเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น ลดการบริโภค เป็สัญญาณที่ไม่ค่อยดี จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างเร่งด่วน
สำหรับภาคค้าปลีกและบริการของไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยตรงน้อยมาก แต่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมผ่านราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นที่กระทบกับเงินเฟ้อราคาสินค้าและค่าครองชีพอีกทั้ง การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศก็ยังไม่เข้มแข็งและยังต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงจากความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อเนื่องอย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีปัจจัยลบมากมาย แต่ก็ยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวโดยคาดการณ์สิ้นปีอยู่ที่ 7.5-10 ล้านคน ซึ่งน่าจะมาเติมกำลังซื้อ รวมถึงดึงศักยภาพการจับจ่ายของกลุ่มผู้บริโภคบางส่วนมาชดเชยปัจจัยลบได้บ้าง
สมาคมฯ ขอย้ำ 4 ข้อเสนอต่อภาครัฐ 1.นโยบายกระตุ้นการจับจ่ายยังต้องทำต่อเนื่องตรงเป้าและโดยเร็ว โครงการต่างๆ ต้องเน้นไปกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้เร็ว อาทิ โครงการช้อปดีมีคืน โครงการริเริ่มสร้างเมืองปลอดภาษีให้ผู้มีกำลังซื้อจับจ่ายในประเทศแทนที่จะนำเงินไปจับจ่ายต่างประเทศ
2.รัฐต้องกำกับดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนผลิต หากสินค้าปรับราคาสูงขึ้นจำนวนมากก็จะเป็นภาระต่อค่าครองชีพประชาชน แต่ถ้าไม่อนุญาตให้ปรับราคา ผู้ผลิตก็จะเลี่ยงไปปรับลดไซส์-ปริมาณสินค้า เพราะทนต่อการแบกต้นทุนไม่ไหว
3.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเร่งสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านการจัดจ้างและสนับสนุนให้ SMEs เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมากขึ้น
4.สนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการยกระดับศักยภาพภาคการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและยั่งยืน จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง รวมถึงพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการอื่นๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้อย่างเต็มที่
“ภาครัฐต้องใส่เกียร์เดินหน้าเต็มกำลังในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นผ่านกลุ่มผู้บริโภคที่ยังคงมีกำลังซื้อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นการบริโภคยังถือเป็นหัวใจสำคัญในการเดินหน้าประเทศไทย พร้อมกับการกำกับดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต” นายฉัตรชัย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี