** จริงแล้วภาคเอกชนไทยรายใหญ่จำนวนไม่น้อยให้ความสำคัญ “แนวคิดขยะเหลือศูนย์” (Zero Waste) มาสักพักใหญ่แล้ว หรือแม้กระทั่งรัฐบาลเองก็พยายามปลุกกระแส โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) แต่ในข้อเท็จจริงก็ยังปรากฏว่าปัจจุบันประเทศไทยมีขยะอุตสาหกรรมมากกว่า 10 ล้านตัน/ ปี ที่ยังไม่มีการบริหารจัดการที่ถูกวิธี ทำให้มีกองขยะที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ทั้งที่จริงแล้วขยะเหล่านี้สามารถทำรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนจะมีข่าวดีที่พอให้ได้มีความหวังขึ้นมาได้บ้าง ที่เมื่อเร็วๆ นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กำลังวางแนวทางการบริหารจัดการซากทั้ง 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.ซากรถยนต์เก่า 2. ซากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า และ 3.ซากเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งล่าสุดข้อมูลจาก กรอ. พบว่า
ซากรถยนต์ ซากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า และซากเซลล์แสงอาทิตย์ ที่นับวันจะมีปริมาณมากขึ้น หากไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างถูกวิธี ในอีก 15-20 ปีข้างหน้า
ประเทศไทยจะมีปริมาณซากรถยนต์ที่ใช้แล้วสูงถึง 16 ล้านคัน ซากแบตเตอรี่สะสม 482,413 ตัน และซากเซลล์แสงอาทิตย์สะสม 105,285 ตัน ซึ่งแน่นอนว่าจะก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
ข้อเท็จจริงอีกอย่างที่น่าสนใจคือปัจจุบันมีโรงงานถอดแยกชิ้นส่วนรถยนต์แบบครบวงจร เพียง 4 แห่งเท่านั้น สามารถกำจัดซากได้รวม 23,500 ตันต่อปี รายที่ใหญ่ที่สุดคือ บริษัท ซันเทค เมทัลส์ จำกัด จังหวัดชลบุรี สามารถกำจัดซากได้ ประมาณ10,000-15,000 ตัน/ปี จากข้อมูลนี้ชี้ได้ชัดว่า ภาครับต้องเร่งส่งเสริมอย่างจริงจัง เพื่อเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการมีความสามารถในการกำจัดซากได้มากกว่านี้ ถ้าดูเฉพาะรถยนต์เก่า ตัวเลขล่าสุดจากกรมการขนส่งทางบก ณ ต้นปี 2565 ประเทศไทยมีรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี ทุกประเภท ประมาณ 5 แสนคัน และประมาณการกันว่า 20 ปีข้างหน้า จำนวนรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 20 ปี จะเพิ่มเป็น 16 ล้านคัน นี่ยังไม่นับรวม ซากรถยนต์ที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ที่อยู่ในสถานีตำรวจ หรือสถานที่จัดเก็บเฉพาะ (สุสานรถยนต์)
รถยนต์หนึ่งคันมีสัดส่วนเหล็กมากถึง 69% คิดเป็นมูลค่ากว่าสามหมื่นบาทต่อคัน หากนำมารีไซเคิลนำเหล็กกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ก็จะลดปริมาณการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศได้มาก และยังมีชิ้นส่วนอื่นที่สามารถนำมาหมุนเวียนในอุตสาหกรรมอื่นได้อีก เช่น ยาง พลาสติก โลหะมีค่าสกัดได้จากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ สำหรับซากแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ถ้ามีประสิทธิภาพความจุมากกว่า 80% สามารถนำกลับไปประกอบใหม่ (Repack) เพื่อเชื่อมกับแบตเตอรี่โมดูลอื่นได้ ส่วนแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพความจุอยู่ระหว่าง 60-80% สามารถนำกลับไปใช้ซ้ำ (Reuse) และแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพความจุต่ำกว่า 60% หรือไม่สามารถใช้งานต่อได้แล้ว ก็สามารถนำไปรีไซเคิล (Recycle) เพื่อนำวัตถุดิบกลับมาใช้ผลิตแบตเตอรี่ใหม่ได้อีกครั้ง
ถึงตรงนี้...เศรษฐศาสตร์วันหยุด...ขอชื่นชมและสนับสนุน...กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ที่ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ องค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม หรือ NEDO ในโครงการสาธิต เพื่อการรีไซเคิล ซากยานพาหนะที่หมดอายุใช้งานในประเทศไทย (ELV Project : End-of-life Vehicles in Thailand) เพื่อสร้างระบบหมุนเวียนการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพจากซากรถยนต์ที่ใช้แล้วในประเทศไทย โดยจัดทำเป็นคู่มือมาตรฐานการทำงาน (คู่มือการแยกชิ้นส่วน) ซากรถยนต์และเสนอแนวทางการจัดการ และจูงใจให้ผู้ที่มีรถยนต์เก่า นำมาทำลายอย่างถูกวิธี
ล่าสุด กรอ.ก็ยังมีแนวคิดในการสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานถอดแยก (Dismantlement) หรือบดย่อย แบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้วหรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วหรือยานยนต์ และซากยานยนต์ เพื่อให้การบริหารจัดการซากเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นส่วนในการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจBCG อย่างเป็นรูปธรรม
พงษ์พันธุ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี