‘กสทช.’แถลงผลงานรอบ 3 เดือน ย้ำยึดผลประโยชน์ประเทศชาติ-ประชาชนเป็นที่ตั้ง
26 กรกฎาคม 2565 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่แถลงผลการดำเนินงานครบ 3 เดือน ภายหลังจากที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เร่งนำเทคโนโลยี 5G พัฒนาระบบ Telemedicine จัดระเบียบและนำสายสื่อสารลงดิน เร่งแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และ SMS หลอกลวง เพิ่มการเข้าถึงบริการ โครงข่ายโทรคมนาคมและ ICT ให้กลุ่มเปราะบาง ปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และสร้างองค์ความรู้ยกระดับองค์กรสู่มาตรฐานสากล
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช. ชุดนี้มุ่งมั่นตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่ ด้วยความตระหนักว่าทุกภารกิจและหน้าที่ทั้งทางด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม จะส่งผลกระทบต่อประชาชน โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่จะสนับสนุนและรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
“กสทช. ชุดนี้มุ่งมั่นทำงานเต็มความสามารถ เร่งทำงานตามภารกิจและหน้าที่ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยมีผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อบริหารคลื่นความถี่ ส่งเสริมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการ” ประธาน กสทช. กล่าว
สำหรับตัวอย่างผลงานในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา กสทช. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ระบบ USO ในการทำงานของระบบ Telemedicine/Telehealth ช่วยเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้กับคนไข้โดยตรง แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สามารถติดตามดูอาการของผู้ป่วย สอบถามพูดคุย สั่งยาตามอาการได้แม้จะอยู่ในที่ห่างไกลกัน ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายของการดูแลรักษาโดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วยติดเตียง มะเร็งขั้นสุดท้าย
สำหรับเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงดิน ในปี 2565 นี้ สำนักงาน กสทช. ตั้งเป้าจัดระเบียบสายสื่อสารทั่วประเทศระยะทางรวมประมาณ 2,800 กม. โดยแบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะทางประมาณ 800 กม. และดำเนินการในพื้นที่ภูมิภาคอีกประมาณ 2,000 กม. ซึ่งในกรุงเทพมหานครจะเร่งดำเนินการในกลุ่มเร่งด่วนก่อน โดยคัดเลือกจากเขตพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น 16 เขต ทั้งนี้ การจัดระเบียบสายสื่อสารเป็นการดำเนินการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย และผู้ประกอบการเจ้าของสายสื่อสาร เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถานที่และความปลอดภัยของประชาชน
ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช. รองศาสตราจารย์ กล่าวว่า ภารกิจสำคัญที่ตนเองได้ผลักดันให้เกิดขึ้นคือการสร้างองค์ความรู้ยกระดับองค์กร สู่มาตรฐานสากลด้วยการเพิ่มสายงานด้านวิชาการให้กับสำนักงาน กสทช. โดยที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 17/2565 เมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2565 มีมติเห็นชอบ “โครงสร้างสายงานวิชาการของสำนักงาน กสทช.” เพื่อรองรับการเป็นองค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลการแข่งขัน และมีขีดความสามารถทางวิชาการในระดับสูง รวมทั้งเป็นองค์กรชั้นนำที่มีความเป็นสากล เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ และเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ สายงานวิชาการจะแบ่งออกเป็น 4 สำนัก และ 1 ศูนย์ โดยมีขอบเขตหน้าที่ครอบคลุมการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายเชิงคุณภาพ เช่น การติดตามการแข่งขัน การประเมินผลกระทบทางสังคมจากนโยบายกำกับดูแล งานด้านวิเคราะห์นโยบายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและพลวัตการแข่งขัน เป็นต้น การประเมินผลกระทบทางนโยบายเชิงปริมาณ เช่น การประเมินด้านราคา มูลค่าคลื่นความถี่ การคำนวณราคาตั้งต้นในการประมูลคลื่นความถี่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจดิจิทัล งานวิชาการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นยุทธศาสตร์ใหม่ๆ ด้านต่างประเทศ ตลอดจนการเสริมสร้างเครือข่ายทางวิชาการที่เข้มแข็ง เพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ โดยขณะนี้สำนักทรัพยากรบุคคลและคณะทำงานปรับปรุงโครงสร้างสายงานวิชาการของสำนักงาน กสทช. อยู่ในระหว่างจัดทำระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการปรับปรุงโครงสร้างสายงานวิชาการให้บรรลุเป้าหมายต่อไป
พลอากาศโท ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช.กล่าวถึงงานในความรับผิดชอบว่า ที่ผ่านมาได้รับผิดชอบงาน 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่ งานด้านกิจการกระจายเสียง โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ ในการ “ยกระดับกิจการกระจายเสียงไทย ก้าวสู่มาตรฐานสากล เพื่อสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจให้ยั่งยืน” ส่วนในด้านเทคนิค เป็นงานหลักด้านที่ 2 และงานที่ 3 งานด้านกิจการดาวเทียม ได้ดำเนินการ ปรับปรุง หลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ในลักษณะจัดชุด (Package) แล้วเสร็จ โดยได้มีการปรับปรุงที่สำคัญได้แก่ การจัดชุด จากเดิม 4 ชุด เป็น 5 ชุด และกำหนดเงื่อนไขแต่ละชุดให้มีความแตกต่างกันตามสภาพของข่ายงานดาวเทียม รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลให้มีความชัดเจนในแต่ละชุด เพื่อเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการทั้งรายเดิมและรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้มากขึ้น พร้อมทั้งปรับราคาขั้นต่ำของแต่ละชุดให้เป็นไปตามสภาพปัจจุบันที่สอดคล้องตามกลไกของตลาด กำหนดราคาขั้นต่ำของแต่ละชุดใหม่ เพื่อเป็นมาตรการจูงใจให้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ได้เพิ่มมาตรการป้องกันการสมยอมราคาด้วยเช่นกัน โดยมีแผนการดำเนินการที่รัดกุมตั้งแต่เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (ร่าง) ประกาศฯ ในเดือนสิงหาคม และในเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม จะเป็นการแก้ไข (ร่าง) ประกาศฯ และนำเสนอ กสทช. อนุมัติ เพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ให้มีการรับเอกสารการคัดเลือก เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน 2565: จะเปิดให้ยื่นเอกสารและหลักฐานการขอรับอนุญาต และจะเปิดให้มีประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในเดือนธันวาคม 2565
ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช. กล่าวถึงการดำเนินงานในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาว่ามี 3 เรื่องสำคัญที่ได้มีบทบาทในการผลักดัน คือ การแก้ไขปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์และข้อความสั้นหลอกลวง (scam) การพัฒนาและสร้างกลไกในการกำกับดูแลเนื้อหาให้มีคุณภาพ และ การสนับสนุนชุมชนที่มีความพร้อมในการดำเนินการทีวีชุมชน
สำหรับการแก้ไขปัญหา scam กสทช.ได้มีแนวทางดังต่อไปนี้
1.จัดตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 10 องค์กรเพื่อประสานความร่วมมือในกระบวนการตรวจสอบเส้นทางการกระทำผิดและดำเนินการจับกุมได้ทันท่วงที โดยในส่วนของ กสทช. เอง ได้มีการใช้มาตรการทางกฎหมายและกำหนดโทษทางปกครองสำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ฝ่าฝืนไม่ได้ดูแลการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่ถือมากกว่า 5 เลขหมาย (ซิม) เนื่องจากพบข้อมูลจากทางตำรวจว่ามิจฉาชีพ scam อยู่ในกลุ่มที่ฝ่าฝืนกฎนี้เป็นจำนวนมาก
2.กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่จัดหามาตรการทางเทคนิคให้มีระบบแจ้งเตือนประชาชน เช่น การใช้เครื่องหมาย +698 นำหน้าเลขหมายเพื่อให้ประชาชนทราบว่าเป็นการโทรเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น รวมทั้งจัดให้มีระบบเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการรับสายโทรศัพท์จากต่างประเทศได้
3.จัดให้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนโดยจัดทำในรูปแบบ SCAM Alert เพื่อให้ข้อมูลตัวอย่างวิธีการฉ้อโกง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และหน่วยงานที่ต้องติดต่อขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาขึ้น
กสทช. นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันแรกที่ตนเองได้เข้าทำงาน ได้มาเริ่มต้นการพัฒนาการจัดบริการเพื่อคนพิการ โดยมีการพบปะเครือข่ายคนพิการและประสานเครือข่ายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้เห็นและเข้าใจถึงสภาพปัญหาในปัจจุบัน รวมถึงมีการตั้งคณะอนุกรรมการการจัดให้มีบริการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและเสมอภาค สำหรับคนพิการ ผู้มีความต้องการที่หลากหลาย และผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เพื่อสร้างกลไกการแก้ปัญหาได้โดยตรง และเป็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปประชุมที่ประเทศรวันดา ในงาน World Telecommunication Development Conference (WTDC) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโครงข่ายโทรคมนาคมและ ICT ที่เป็นหน่วยงานหลักในการลดช่องว่าง ซึ่งได้ร่วมแสดงปณิธานและให้คำมั่นสัญญาว่าเราให้ความสำคัญกับการดำเนินการขยายการเชื่อมโยง Digital Inclusion มาสู่ชุมชนและกลุ่มคนที่การเข้าถึงยากที่สุด เพื่อทำให้เกิดการเชื่อมต่อที่มีความหมาย และเป็นครั้งแรกที่มีตัวแทนคนพิการเข้าไปในการประชุม ITU
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี