นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกันจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) รายภูมิภาค โดยจะใช้เป็นเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจและติดตามความเคลื่อนไหวสถานการณ์อุตสาหกรรมรายภูมิภาคในเชิงลึกเป็นประจำทุกเดือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายภูมิภาคจะเป็นข้อมูลสำคัญหนึ่งในการใช้ประโยชน์ในเชิงรุกสำหรับการวิเคราะห์สถานการณ์
ทั้งนี้เพื่อกำหนดทิศทางหรือนโยบายที่มีประสิทธิภาพ ทันท่วงที และสอดคล้องกับความต้องการของภูมิภาคในการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์และนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจรายภูมิภาค อาทิ ผลกระทบของความเสียหายจากน้ำท่วม และผลกระทบจากการปิดโรงงานอุตสาหกรรมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดมาตรการขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ และโอกาสในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค
โดยในระยะแรกการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่เป็นรายภูมิภาคจะนำร่อง 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งได้มีการพิจารณาโครงสร้างอุตสาหกรรมในแต่ละภูมิภาค กำหนดกรอบตัวอย่างโรงงานอุตสาหกรรมที่เหมาะสม และคัดเลือกวิธีการในการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายภูมิภาคที่สอดคล้องกับการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในปัจจุบัน โดย สศอ.และ ธปท. จะนำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรายภูมิภาคที่ผ่านการปรับปรุงและพัฒนาแล้ว รวมถึงผลการวิเคราะห์ เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันเป็นการภายในสำหรับหน่วยงานทางเศรษฐกิจที่สำคัญเป็นลำดับแรกก่อน จากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการดัชนีอุตสาหกรรม เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุง และดำเนินการเผยแพร่เพื่อใช้ประโยชน์อย่างเป็นทางการต่อไป
“สศอ.ได้ปรับปรุงและพัฒนาการจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาการปรับปรุงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการสะท้อนสถานการณ์อุตสาหกรรมในระดับรายสาขาอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์ยังไม่มีความครอบคลุมสำหรับการวิเคราะห์ในมิติอื่นๆ”นายทองชัย กล่าว
ทั้งนี้ สศอ.ตระหนักถึงความสำคัญของความแตกต่างทางโครงสร้างเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่ของประเทศ จึงจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ เพื่อเป็นเครื่องชี้วัดภาวะเศรษฐกิจและติดตามความเคลื่อนไหวสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม รวมถึงวิเคราะห์ศักยภาพของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นแต่ละพื้นที่ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัจจุบันได้สำรวจข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ด้วยระบบ iSingleForm เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ส่งผลให้ได้รับข้อมูลการประกอบกิจการจากโรงงานที่จะนำมาจัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่มากขึ้น ถือเป็นการยกระดับการจัดทำดัชนีอุตสาหกรรมของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี