นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปก ครั้งที่ 52 (APEC Transportation Working Group : TPTWG) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ว่า การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ ภายใต้เป้าหมายหลัก “การขนส่งที่ไร้รอยต่อ อัจฉริยะ และยั่งยืน” (Seamless, Smart and Sustainable Transportation) เพื่ออำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน และฟื้นฟูความเชื่อมโยงด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจเอเปกและระดับโลก
โดยในการประชุมมีสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกเข้าร่วมประชุม ทั้งรูปแบบ Online และ Onsite ซึ่งการประชุมด้านการขนส่งของเอเปกครั้งนี้ ถือเป็นเวทีสำคัญในการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั้ง 4 สาขา คือ 1.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางอากาศ 2.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและระบบขนส่งอัจฉริยะ 3.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางบก และ4.กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งทางน้ำ
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้กระทรวงคมนาคมได้จัดทำข้อมูลการพัฒนาคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศไทย ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (2561-2580) นำเสนอให้กับประเทศสมาชิก จำนวน 21 เขตเศรษฐกิจ ได้รับทราบแผนการดำเนินการของประเทศไทย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียน
นอกจากนี้จะมีการหารือในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change)ทั้งเรื่องนโยบายสีเขียว (Green) และการลดคาร์บอน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่โลกกำลังให้ความสนใจ โดยเน้นการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด BCG Economy เพราะหากไม่เริ่มดำเนินการ อาจเป็นปัจจัยหลักในการโดนกีดกันทางการค้า
โดยแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปี กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอว่าในขณะนี้ได้ดำเนินการระยะที่ 1 คือ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รวมถึงแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) ทั้งนี้เพื่อเชื่อมโยงในเขตเศรษฐกิจเอเปกด้วยตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และศักยภาพที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างเขตเศรษฐกิจในการเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งของภูมิภาค
นอกจากนี้ยังได้นำเสนอโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ซึ่งจะเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่ และเป็นประตูเศรษฐกิจของโลก โดยประเทศไทยจะใช้ต้นแบบท่าเรือ Tuas ของประเทศสิงคโปร์ ที่ตั้งเป้าในการเป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 65 ล้าน ทีอียู ในระยะ 20 ปี หรือในปี 2585
โดยในส่วนของประเทศไทยถือว่ามีข้อได้เปรียบในการเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค เชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำ ตามนโยบายสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และราคาสมเหตุสมผล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและลงรายละเอียดตามต้นแบบของประเทศสิงคโปร์ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ จากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบในหลักการภายในปี 2565 ก่อนที่ในปี 2566 จะไปโรดโชว์โครงการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุน ส่วนรูปแบบการลงทุนได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปพิจารณา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี