Google ประกาศเปิดตัวโครงการ “Samart Skills” เรียนรู้ทักษะดิจิทัลสำหรับพร้อมทำงาน สนับสนุนทุนการศึกษาจำนวน 22,000 ราย เพื่อโอกาสทางเศรษฐกิจดิจิทัลที่เท่าเทียมสำหรับคนไทย
Google ประเทศไทย ประกาศเปิดตัวโครงการ “Samart Skills” ที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับประเทศไทย ภายใต้ Grow with Google โดยเป็นหลักสูตรฝึกอบรมทักษะดิจิทัลสำหรับพร้อมเข้าทำงานและช่วยจับคู่แรงงานกับความต้องการของตลาดแรงงานที่สูง ซึ่งโครงการนี้ Google ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และสถาบันการศึกษาพันธมิตรชั้นนำในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนและผู้ที่มองหางานในทุกสายอาชีพสามารถเข้าถึงการฝึกอบรมโดยใช้หลักสูตร Google Career Certificates จนเป็นบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลพร้อมเข้าทำงานทันที โดยแบ่งออกเป็น 6 สาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการขององค์กรในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้พัฒนาและฝีกอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญในสายงานต่างๆ ของ Google เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานผ่านการลงมือปฏิบัติจริง โดยผู้สมัครเรียนไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องมาก่อน ทั้งนี้ ผู้เรียนสามารถจบหลักสูตรได้ภายในเวลา 3-6 เดือน พร้อมใบรับรองทักษะอาชีพ สำหรับนำไปใช้เพื่อสมัครงานในตำแหน่งระดับเริ่มต้นในสายงานดิจิทัล นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมโอกาสการจ้างงาน Google ได้จัดตั้งกลุ่มพันธมิตรผู้ว่าจ้างซึ่งประกอบด้วยบริษัทต่างๆ กว่า 30 รายที่ให้การยอมรับคุณวุฒิจากหลักสูตรเหล่านี้และสนใจว่าจ้างผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากโครงการ “Samart Skills”
เมื่อปีที่ผ่านมา จากรายงานของ AlphaBeta ระบุไว้ว่าการเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัลจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ถึง 2.5 ล้านล้านบาทต่อปี (7.95 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ภายในปี 2573 ในขณะที่ 78% ของผู้นำธุรกิจไทยได้วาง กลยุทธ์ดิจิทัลให้เป็นกลยุทธ์หลักเพื่อการเติบโต รวมทั้ง จากรายงานของ World Economic Forum ปี 2563 แสดงให้เห็นว่ามีเพียง 55% ของแรงงานในไทยที่มีความรู้ด้านทักษะดิจิทัลสำหรับการทำงานในอนาคต ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลของประเทศไทย
นายไมค์ จิตติวาณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดด้านแบรนด์ของ Google ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ e-Conomy SEA Report ที่ Google จัดทำร่วมกับ Temasek และ Bain & Company ในปีที่ผ่านมา ระบุว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเข้าสู่ “ทศวรรษแห่งดิจิทัล” และเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2573 ในขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยถือเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่สดใสมากที่สุด โดยคาดว่าในปี 2568 มูลค่าสินค้ารวมในเศรษฐกิจดิจิทัล (GMV) จะแตะที่ 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยมีผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคน โดยกว่า 67% ของผู้ใช้รายใหม่อาศัยอยู่นอกหัวเมืองหลัก ซึ่งโครงการ “Samart Skills” นี้ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากโครงการ Saphan Digital ที่ได้ฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 100,000 ราย รวมทั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าคนไทยจะได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะดิจิทัลอย่างเท่าเทียมและใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด”
นางศารณีย์ บุญฤทธิ์ธงไชย Country Marketing Manager, Google ประเทศไทย กล่าวว่า “วันนี้ Google ยินดีที่ได้ประกาศเปิดตัวโครงการ “Samart Skills” เพื่อให้การสนับสนุนทุนการศึกษาแบบให้เปล่าแก่นักเรียนระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา รวมทั้งบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อเข้าเรียนในหลักสูตรต่างๆ ในโครงการ “Samart Skills” จำนวนทั้งสิ้น 22,000 ราย โดย Google จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้แก่ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ และสถาบันการอาชีวศึกษากว่า 100 แห่ง รวมทั้งพันธมิตรองค์กรธุรกิจชั้นนำจากภาคเอกชน ได้แก่ เอไอเอส และ ทรู คอร์ปอเรชั่น ในการมอบทุนการศึกษาจำนวนดังกล่าว ซึ่งหลักสูตรการวิเคราะห์ข้อมูล การสนับสนุนด้านไอที การจัดการโครงการ การออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้ (UX) และ การตลาดดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ ได้รวบรวมไว้บน Coursera ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการคอร์สเรียนออนไลน์ชั้นนำ นอกจากนี้แล้ว เรายังได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการนำหลักสูตรพื้นฐานการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) ของ Google (Google Cloud Computing Foundations) ไปให้นักศึกษาของตนเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถทางเทคนิคในด้านการประมวลผลคลาวด์ โดยนักศึกษาที่เข้าเรียนในหลักสูตรนี้จะได้รับป้ายรับรองแบบดิจิทัล (skills badge) นับว่าโครงการนี้ 1 ยกเว้นหลักสูตรพื้นฐานการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) ของ Google ที่ผู้เรียนจะได้รับป้ายรับรองแบบดิจิทัล (skills badge)
นอกจากจะเป็นการช่วยปลดล็อคการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมเพื่อตอกย้ำแนวคิด “Leave No Thai Behind” ของเราแล้ว ยังสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยให้เดินหน้าต่อไปอย่างมีเสถียรภาพอีกด้วย”
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า “ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้เล็งเห็นว่าเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลในประเทศเรานั้นมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นนัยยะสำคัญ โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยในปีนี้สูงมากถึง 88% รวมทั้ง จากผลวิจัยของ Google, Temasek และ Bain & Company ได้ระบุว่าเศรษฐกิจดิจิทัลไทยมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2564 ซึ่งโตกว่าปีที่ผ่านมาถึง 51% และยังคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.9 ล้านล้านบาท ในขณะที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเต็มตัว ส่งผลให้แรงงานที่มีทักษะดิจิทัลเป็นที่ต้องการอย่างมากเพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 ประเทศไทยจะต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลกว่า 1 ล้านคน ดังนั้น เราจำเป็นต้องรีบพัฒนาแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลชั้นสูงให้เร็วยิ่งขึ้น และวันนี้ ผมรู้สึกยินดีที่ได้ทำงานร่วมกับทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนอย่าง Google ประเทศไทย เพื่อช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางทักษะด้านดิจิทัล และสร้างเสริมโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการศึกษาเพื่อตอบโจทย์อาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด และผมขอขอบคุณ Google ประเทศไทย ที่ได้สนับสนุนทุนการศึกษาแก่เหล่านิสิต นักศึกษา และคนไทย ในการเพิ่มความรู้และทักษะของตัวเองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งยังช่วยจัดหาช่องทางให้ผู้เข้าร่วมโครงการที่สำเร็จการอบรมแล้วสามารถหางานที่เหมาะสมกับพวกเขาได้อีกด้วย”
นายศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานผลิตภัณฑ์โทรศัพท์เคลื่อนที่กลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวว่า “เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมทำงานกับ Google ในการเสริมทักษะดิจิทัลให้แก่คนไทย จากนโยบายของ AIS ในฐานะ Digital Service Provider ที่มุ่งนำดิจิทัลมาเสริมศักยภาพเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ และขีดความสามารถในการประยุกต์ใช้ดิจิทัลของประชาชน คือ 1 ในหมุดหมายนั้น เราจึงขอยืนยันว่า จะร่วมทำหน้าที่ส่งต่อองค์ความรู้จากโครงการ Samart Skills ไปสู่ลูกค้า พนักงาน และคนไทย เพื่อเป็นอีกพลังในการสร้างทักษะดิจิทัลให้สัมฤทธิ์ผลอย่างดีที่สุด”
ดร. ธีรเดช ดำรงค์พลาสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “กลุ่มทรู มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับ Google ประเทศไทย ในโครงการ “Samart Skills” ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของกลุ่มทรูในการนำศักยภาพเทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัลครบวงจรสนับสนุนด้านการศึกษาของไทย เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ให้คนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยผู้สมัครรับทุนการศึกษาของโครงการ “Samart Skills” ผ่าน ทรู ดิจิทัล อคาเดมี จะได้รับโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม สัมมนา และโอกาสฝึกงานจริง รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมจากกลุ่มทรู ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านดิจิทัลให้คนไทยมีความรู้ความสามารถและมีทักษะดิจิทัลทัดเทียมกับนานาประเทศ และเป็นพลังสำคัญในขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในยุค 4.0”
Google ประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความมุ่งมั่นและการลงทุนต่างๆ จะช่วยเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นเพื่อช่วยให้คนไทยได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในโลกดิจิทัลและมีส่วนร่วมในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านเครื่องมือและแพลตฟอร์มเพื่อช่วยให้ธุรกิจเติบโต และทำให้ผู้คนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักภายใต้แนวคิด “Leave No Thai Behind” สามารถดูรายละเอียดโครงการ “Samart Skills” เพิ่มเติมได้ที่นี่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี