นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาและเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงวิชาการสภาวิชาชีพบัญชีฯ “ASEAN CPA Conference : Empowering andEnhancing Sustainability of ASEAN Business”ว่า ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่ได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพ และถือเป็นครั้งที่ 3 ที่จัดการประชุมเชิงวิชาการสภาวิชาชีพบัญชีอาเซียน ขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยครั้งแรกจัดที่อินโดนีเซีย ในปี 2562 ฟิลิปปินส์ ในปี 2564 และในปี 2565 จัดที่ไทย
ทั้งนี้ เพื่อเน้นย้ำความสำคัญและบทบาทของนักบัญชีวิชาชีพอาเซียน (ASEAN Chartered Professional Accountant : ASEAN CPA) ในการเสริมสร้างความยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจในประเทศสมาชิกอาเซียน และสร้างโอกาสให้ ASEAN CPA ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันทั้ง 2 ระดับ สำหรับไทยทั้งผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต
“โลกเคลื่อนไปข้างหน้าทุกวัน จึงมีข้อกำหนดกฎระเบียบเพิ่มเติมในการกำกับดูแลนิติบุคคลหรือธุรกิจ เพื่อทำให้นิติบุคคลและการประกอบธุรกิจ ธุรกรรมต่างๆ เป็นด้วยความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล มาตรฐานการบัญชีและข้อกำหนดทางภาษีจึงมีความสำคัญ จึงต้องอาศัยทักษะความรู้ความสามารถและประสบการณ์รอบด้านของนักบัญชี” นายจุรินทร์ กล่าว
ในปัจจุบันมีข้อตกลงอาเซียนเกี่ยวกับนักบัญชีที่เรียกว่า ASEAN Mutual RecognitionArrangement on Accountancy Services : ASEAN MRA เป็นข้อตกลงยอมรับร่วมกันในการให้บริการด้านบัญชีของอาเซียน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ลงนามร่วมกับอีก 9 ประเทศเมื่อช่วงปลายปี 2557 มีข้อกำหนดสำคัญคือ นักบัญชีที่จะเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อประกอบวิชาชีพบัญชีในประเทศอื่นในกลุ่มสมาชิกอาเซียน สามารถทำได้
“การจัดการประชุมเชิงวิชาการ ASEAN CPA Conference ที่ไทยในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 500 คน และรับฟังผ่านช่องทางออนไลน์อีกกว่า 200 คน ซึ่ง ASEAN CPA ถือกําเนิดขึ้นจาก ข้อตกลงยอมรับร่วมในการให้บริการด้านบัญชีของ ASEAN (ASEAN Mutual Recognition Arrangement onAccountancy Services: ASEAN MRA)ซึ่งไทยได้ลงนามร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 9 ประเทศ ในปี 2557 และข้อตกลงยอมรับร่วมในการให้บริการด้านบัญชีของ ASEAN (MRA) นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกําหนดคุณสมบัติ ของASEAN CPA และสนับสนุนการเคลื่อนย้ายนักบัญชีที่มีคุณสมบัติ ให้สามารถไปปฏิบัติงานในประเทศสมาชิกอาเซียนได้ ให้เกิดการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และก่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดีในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน”นายจุรินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้นอย่างน้อย 5 ประการ ประกอบด้วย 1.จบปริญญาตรีด้านบัญชี, 2.ผ่านการทดสอบนักบัญชีมืออาชีพหรือนักบัญชีบริหารมืออาชีพของสภาวิชาชีพบัญชี,3.มีประสบการณ์ในการทำงานด้านการบัญชีไม่น้อยกว่า 3 ปี, 4.ต้องมีการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้รอบรู้ด้านบัญชีหรือในวิชาชีพ และ 5.ต้องไม่มีประวัติฝ่าฝืนจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างร้ายแรงและต้องไปขึ้นทะเบียนที่สำนักงานกลางของอาเซียน
โดยปัจจุบันมีนักบัญชีขึ้นทะเบียนไว้ 6,290 คนเป็นนักบัญชีไทย 753 คน และไปปฏิบัติตามกฎระเบียบของแต่ละประเทศที่กำหนดไว้ จึงสามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานประกอบวิชาชีพการบัญชีในประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีผู้ทำบัญชีกว่า 78,000 คน และผู้สอบบัญชีรับอนุญาต 11,000 คน รวมแล้วเกือบ 90,000 คน จึงต้องให้มีความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบ หากสนใจจะไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ส่งเสริมและสนับสนุนโดยจัดให้มีการอบรมองค์ความรู้รูปแบบต่างๆ ในชั้นเรียน ที่เรียกว่า In-Class และรูปแบบออนไลน์ ในหัวข้อที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน รวมถึงจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และหลักสูตรการอบรมภาษาต่างประเทศที่อาจจำเป็นต้องใช้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี