ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 2 ปี 2022 อยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.5%YOY มีทิศทางชะลอลงต่อเนื่องหลายไตรมาส โดยขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดวิกฤตโควิดและเพิ่มช้าสุดในรอบ 18 ปี จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 88.2% นอกจากนี้ยังเป็นผลจาก Nominal GDP ที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังผ่อนคลายนโยบายควบคุมโรคและเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงผลด้านราคาที่ปรับสูงขึ้นมากในปีนี้ หากพิจารณาการขยายตัวของสินเชื่อครัวเรือนในระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 พบว่าชะลอลงเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลแม้จะชะลอลงบ้าง แต่ถือว่ายังขยายตัวสูง ส่วนหนึ่งสะท้อนแนวโน้มการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายทดแทนการขาดสภาพคล่อง ในภาวะรายได้ฟื้นตัวไม่ทันรายจ่าย ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัวเร่งขึ้นจากการใช้จ่ายที่ฟื้นตัว
ขณะที่รายได้ฟื้นช้ากว่ารายจ่ายจะเป็นปัจจัยกดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในระยะถัดไป โดยผลสำรวจจาก EIC Consumer survey 2022 พบว่า (1) ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ค่าครองชีพคนไทยสูงขึ้นต่อเนื่องสวนทางกับรายได้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ยังไม่เพิ่มขึ้น (ผู้บริโภคเกือบ 2 ใน 3 ยังมีรายได้ไม่เท่ากับก่อนเกิดวิกฤตโควิด โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อยที่รายได้ฟื้นช้ากว่ากลุ่มคนรายได้สูง)และ (2) ในช่วง 6 เดือนข้างหน้าผู้บริโภค43.8% คาดว่ารายได้จะโตไม่ทันรายจ่าย ส่งผลให้ต้องเผชิญปัญหา 3 ด้าน ได้แก่ ปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย ปัญหาเงินออมลดลง และปัญหาการชำระหนี้ ทำให้ครัวเรือนเหล่านี้มีสภาพคล่องรองรับค่อนข้างน้อย และมีความเสี่ยงที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต
EIC ประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP จะปรับลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 86-87% ณ สิ้นปี 2022 ตามการเติบโตของ Nominal GDP ที่เป็นผลจากแนวโน้มเงินเฟ้อสูงเป็นหลัก อย่างไรก็ดีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่มีแนวโน้มลดลง จะไม่สะท้อนปัญหายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในภาพรวมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้าได้ ท่ามกลางภาวะรายได้โตช้ากว่ารายจ่ายของครัวเรือนบางกลุ่มและวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น
EIC มองว่า มาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนยังเป็นเรื่องท้าทาย โดยหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาหยั่งรากลึกในเศรษฐกิจไทยยาวนาน นับเป็นความท้าทายสำหรับภาครัฐที่จะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้อย่างยั่งยืนและสามารถลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ได้สำเร็จในระยะข้างหน้า ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐสถาบันการเงิน รวมถึงครัวเรือน มุ่งจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้งระบบตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้จนถึงการชำระหนี้ค้าง โดยยึดหลัก “ลดก่อ (หนี้) ชะลอรายจ่าย สร้างรายได้ยั่งยืน” เริ่มตั้งแต่นโยบายปัจจุบันที่ภาครัฐสนับสนุนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับกระแสรายได้ในอนาคตของลูกหนี้ นโยบายระยะปานกลางมุ่งส่งเสริมวินัยการเงินและสร้างความรู้ทางการเงินเพื่อลดการก่อหนี้เกินตัวในอนาคต ลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบ และเพิ่มโอกาสเข้าถึงหนี้ในระบบ รวมถึงนโยบายระยะยาวส่งเสริมทักษะและโอกาสในการแข่งขันของแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่สูงขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี