ขณะนี้บุคคลในวงการรถยนต์ใช้แล้ว หรือ วงการรถยนต์มือสอง ได้มีการระดมความคิดเห็น และแชร์ข้อมูลร่วมกันเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในปี พ.ศ.2566 ภายหลังการปรับเงื่อนไขดอกเบี้ยเช่าซื้อรถให้เป็นเงื่อนไขใหม่ที่จะมีการยึดตามประกาศกฎหมายใหม่ในเรื่องสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่จะมีผลบังคับใช้ต้นปีหน้า พ.ศ.2566 ซึ่งมีกระแสข่าวออกมาแล้วก่อนหน้านี้
ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องที่ได้มีการวิเคราะห์ในประเด็นดังกล่าวว่า ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวนี้ที่ว่า จะมีใครได้ประโยชน์ และจะมีใครเสียประโยชน์นั้น ได้มีบุคคลผู้เชี่ยวชาญจากแวดวงยานยนต์คนดังจากหลายฝ่ายของวงการรถยนต์ใช้แล้วได้มีการได้แชร์ข้อมูลร่วมกัน เช่น
นายณัฐวุฒิ ไพศาลวิภัชพงศ์ กรรมการ บริษัท คาร์โฟร์ชัวร์ และผู้ร่วมก่อตั้ง “เว็บไซต์ Car4sure” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ซื้อขายรถยนต์มือสองชื่อดังระดับชั้นแนวหน้าของเมืองไทย,นายเดชณรงค์ สฤษดิ์เวชวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์โฟร์ชัวร์ จำกัด และผู้ร่วมก่อตั้ง “เว็บไซต์ Car4sure”,นายรังสรรค์ สฤษดิ์เวชวรกุล ประธานชมรมรถสวยกาญจนา เป็นต้น
โดย นายณัฐวุฒิ ไพศาลวิภัชพงศ์ กรรมการ บริษัท คาร์โฟร์ชัวร์ และผู้ร่วมก่อตั้ง “เว็บไซต์ Car4sure” ซึ่งเป็นเว็บไซต์ซื้อขายรถยนต์มือสองชื่อดังระดับชั้นแนวหน้าของเมืองไทย เปิดเผยว่าจากกรณีที่ในปี พ.ศ.2566 จะมีการปรับเงื่อนไขดอกเบี้ยเช่าซื้อรถเป็นเงื่อนไขใหม่ที่จะมีการยึดตามประกาศกฎหมายใหม่ในเรื่องสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ที่จะมีผลบังคับใช้ต้นปีหน้าพ.ศ.2566 ดังกล่าวนั้น
ซึ่งเนื้อหาด้านในมีอยู่หลายส่วนที่มีการปรับเปลี่ยนแต่ส่วนที่ประชาชนทั่วไปสนใจจริงๆ จะมีอยู่เพียง 2-3 ประเด็นซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นเรื่องของการควบคุมเพดานดอกเบี้ย ซึ่งประกาศฉบับใหม่ครอบคลุมทั้งรถยนต์ใหม่, รถมือสองและจักรยานยนต์ ซึ่งเรื่องนี้ทาง Car4sureขอวิเคราะห์เฉพาะในส่วนของรถยนต์เป็นหลักโดยเรามองว่า
ตอนนี้หลายคน ยังคงเข้าใจว่า กฎหมายฉบับใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดอัตราดอกเบี้ยจากเดิม ให้เป็นแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) แต่จริงๆ แล้ว เนื้อหาสาระของกฎหมายฉบับใหม่นี้ วิธีการคำนวณดอกเบี้ย และค่างวด (ทั้งรถใหม่,รถเก่า) ยังคงเป็นแบบเดิม คือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) เพียงแต่ต้องมีการแจกแจงให้ลูกค้ารับทราบว่า ถ้าแปลงวิธีคิดคำนวณเป็นแบบลดต้นลดดอก จะมีอัตราดอกเบี้ยที่เท่าไร เพราะฉะนั้นวิธีการคิดคำนวณค่างวด รวมถึงวิธีการชำระเงินค่างวดยังคงเป็นแบบเดิมที่เคยทำกันตามปกติ คือ ต้องจ่ายเท่ากันทุกงวด
แต่สาระสำคัญที่เพิ่มเติมมา ก็คือ เพดานดอกเบี้ยสูงสุดแต่ละประเภทมีดังนี้
รถใหม่ เมื่อแปลงเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) แล้วต้องไม่เกิน 10% รถมือสองเมื่อแปลงเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) แล้วต้องไม่เกิน 15% จักรยานยนต์ เมื่อแปลงเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) แล้วต้องไม่เกิน 23%
ซึ่งในส่วนของจักรยานยนต์ อาจจะได้รับผลกระทบเยอะ แต่ในส่วนของรถยนต์ทั้งรถใหม่ และรถมือสอง ไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากอัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบัน ไม่ได้สูงเกินกว่าเพดานที่กฎหมายใหม่กำหนดอยู่แล้ว ซึ่งถ้าคิดคำนวณจากสูตรโดยคร่าวๆ ของการแปลงอัตราดอกเบี้ยจากอัตราคงที่ไปเป็นอัตราลดต้นลดดอก จะใช้วิธีคูณด้วยตัวเลข 1.8 เช่นอัตราดอกเบี้ยคงที่ 5% ก็จะเท่ากับ 9% ในแบบลดต้นลดดอก
ดังนั้นเมื่อแปลงค่ากลับเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่แล้ว เพดานดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศฉบับใหม่ จะเป็นดังนี้
รถใหม่ อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ต้องไม่เกิน 5.55%
รถมือสอง อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ต้องไม่เกิน 8.33%
จักรยานยนต์ อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ต้องไม่เกิน 12.78%
ซึ่งปกติรถมือสองในอดีตหากเป็นรถยนต์ที่อายุรถไม่เกิน 12 ปี อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงระหว่าง 2.79-7.9 ถ้าเป็นรถมือสองที่อายุน้อยๆ เช่นไม่เกิน 7 ปี ส่วนใหญ่ทุกวันนี้ก็ดอกเบี้ยแค่ 2.79-5.9% กันอยู่แล้ว
ดังนั้นเพดานอัตราดอกเบี้ยใหม่นี้ก็แทบไม่ได้มีผลอะไรอยู่แล้วอาจจะมีแค่บางส่วนที่เป็นรถอายุเกิน 12 ปี ที่อาจจะได้รับผลกระทบ แต่รถส่วนใหญ่ในเว็บ Car4sure คาร์โฟร์ชัวร์ ก็รถปีเก่ามีน้อยมากซึ่งส่วนใหญ่ ลูกค้ารถกลุ่มนี้ มักซื้อเงินสดมากกว่า ก็คิดว่าเรื่องเพดานดอกเบี้ยกฎหมายใหม่นี้ ไม่ได้กระทบกับรถมือสองของ Car4sure เท่าไร
นายณัฐวุฒิกล่าวว่า หากมองถึงข้อดี ของกฎหมายฉบับใหม่ ที่มีผลต่อลูกค้า ผมมองว่าจะเป็นประเด็นเรื่องของการให้ส่วนลด เมื่อปิดบัญชี และการคิดอัตราค่าปรับล่าช้าที่ปรับลดลงมาเยอะน่าจะทำให้ตลาดต้นปีหน้าคึกคักมากเลยทีเดียว ทั้งรถใหม่ และรถมือสอง โดยจากเดิม หากลูกค้าผ่อนไประยะหนึ่งแล้ว มีความประสงค์จะจ่ายเงินทั้งก้อนเพื่อปิดบัญชีเคลียร์หนี้เก่าที่เหลือ แบบจ่ายครั้งเดียวหมด ก็จะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยกันอยู่แล้ว ปกติไฟแนนซ์ทั่วไปจะให้ส่วนลดที่ 50% ของดอกเบี้ยส่วนที่เหลือที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ในกฎหมายใหม่นี้จะกำหนดชัดเจน โดยแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลาตามที่เป็นข่าว นั่นก็แปลว่า เมื่อผ่อนไปถึงช่วงใดช่วงหนึ่งแล้ว ลูกค้าจะมีทางเลือกที่จะประหยัดดอกเบี้ยในอนาคตได้ ด้วยการชำระเงินก้อนทั้งหมดเพื่อปิดบัญชี
ซึ่งมุมนี้ ผมว่าเป็นผลดี ต่อตลาดรถเพราะปัจจุบันนี้ลูกค้าบางส่วนที่ไม่อยากเสียดอกเบี้ยเยอะ มักเลือกซื้อรถด้วยเงินสดการมีทางเลือกทั้ง 3 แบบใหม่ ที่ให้ส่วนลดมากถึง 60% 70% และ 100% ตามลำดับ นับว่าสร้างความน่าสนใจแก่ผู้บริโภคไม่น้อยเชื่อว่าจะดึงดูดกลุ่มลูกค้าเงินสด ให้หันมาซื้อแบบเงินผ่อนได้มากเลยทีเดียว
ส่วนข้อดีในมุมของผู้ประกอบการก็ต้องยอมรับว่าในช่วง 2 เดือนสุดท้ายนี้คงจะเกิดภาวะตลาดสะดุดชั่วคราว เนื่องจากจะเหลือเฉพาะลูกค้าเงินสดที่ยังคงเลือกซื้อรถในสองเดือนสุดท้าย ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ส่วนลูกค้าที่ตั้งใจจะซื้อเงินผ่อน เชื่อว่าจะรอต้นปีหน้าซึ่งแน่นอนว่า ตลาดต้นปีหน้าคึกคักเกินปกติแน่นอน เนื่องจากแรงซื้อของปลายปี 2565 คงจะไปทะลักกันเดือนมกราคมทีเดียวเลย
นายณัฐวุฒิกล่าวต่อว่า และอีกเรื่องคือ อัตราค่าปรับล่าช้า จากเดิมที่แต่ละไฟแนนซ์อาจคิดค่าปรับไม่เท่ากัน ต่อไปนี้ก็จะลดเหลือไม่เกิน 5% ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อตลาดรถโดยรวมเช่นกันเมื่อมองถึงข้อดีแล้ว ก็แน่นอนว่าเราต้องไม่ลืมถึงข้อด้อย ที่อาจจะส่งผลกระทบเช่นกันเพราะภาคส่วนที่มีผลโดยตรงจริงๆ คือ เจ้าหนี้ หรือผู้ให้เช่าซื้อ ที่อาจจะต้องคิดคำนวณความเสี่ยงในการทำธุรกิจกันใหม่ รวมถึงมีต้นทุนบางอย่างเพิ่มขึ้น
และอาจสูญเสียรายได้บางส่วนไปเช่น ปริมาณดอกเบี้ย หรือ ค่าปรับ หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมถึงต้องคำนวณความเสี่ยงที่จะเกิด NPL หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น หากกฎหมายใหม่เอื้อให้ลูกหนี้มีความได้เปรียบเจ้าหนี้มากกว่าเดิม
นายณัฐวุฒิกล่าวในตอนท้ายว่า ดังนั้นเราคงต้องรอดูภาพที่เกิดขึ้นจริงอีกที ในปีหน้าว่า คุณภาพของลูกหนี้จะดีขึ้นหรือแย่ลง รวมถึง NPL จะมีปริมาณมากขึ้น หรือลดลงอย่างไร ซึ่งหากเป็นไปในทิศทางที่ดี บรรดาเจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินต่างๆ คงจะสู้ตลาดกันต่อ ก็คงไม่มีผลอะไรแต่ถ้าเกิดมี NPL สูงขึ้น หรือคุณภาพของลูกหนี้แย่ลง เนื่องมาจากการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ ก็คงจะทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ต้องออกมาตรการที่รัดกุมมากขึ้นในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งลูกค้าและผู้ประกอบการรถยนต์เองคงไม่ชอบใจแน่ๆ เพราะจะทำให้แรงซื้อในตลาดลดลง และการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของลูกค้าอาจมีความยากมากขึ้น และจะกระทบต่อวงจรธุรกิจรถยนต์ทั้งระบบอย่างแน่นอน
ด้านนายเดชณรงค์ สฤษดิ์เวชวรกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท คาร์โฟร์ชัวร์ จำกัดและผู้ร่วมก่อตั้ง “เว็บไซต์ Car4sure” กล่าวในประเด็นดังกล่าวเกี่ยวกับการวิเคราะห์ท่าทีของสถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อว่า จะหาทางออกกับเงื่อนไขกฎเกณฑ์ใหม่นี้อย่างไร? ซึ่งเรื่องนี้นายเดชณรงค์กล่าวว่า เรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันการเงินคงต้องรอดูภาพรวมของทั้งตลาดรถยนต์ตลอดทั้งปี 2566 ถึงจะประเมินได้ว่าสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้จะยังคงมีนโยบายเหมือนเดิม หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือไม่
เนื่องจากกฎหมายใหม่ เพึ่งจะเริ่มใช้ต้นปีหน้ากว่าที่แต่ละไฟแนนซ์จะมองเห็นผลประกอบการ หรือมองเห็นคุณภาพของลูกหนี้ ลอตใหม่ อาจจะต้องรอถึงประมาณกลางๆ ปี 2566 ซึ่งในความเป็นจริง สถานการณ์อาจจะไม่ได้น่าวิตก เพราะมีโอกาสที่ลูกหนี้ชั้นดี จะไหลเข้าสู่พอร์ตเช่าซื้อมากขึ้น จากเดิมที่บางส่วนหันไปซื้อเงินสด เนื่องจากประกาศฉบับใหม่นี้ให้ส่วนลดดอกเบี้ยค่อนข้างมากแก่ลูกค้าที่ปิดบัญชีก่อนกำหนด
การที่บางไฟแนนซ์จะเลือกปรับเปลี่ยนนโยบายการปล่อยสินเชื่อในเวลานี้อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จึงคิดว่าทุกไฟแนนซ์ยังคงนโยบายเช่นเดิม
“เท่าที่ผมได้คุยกับหลายๆ ไฟแนนซ์ จริงๆ เขาเองก็มีแผนสำรองเตรียมไว้อยู่แล้ว หากมีระดับของหนี้เสียที่สูงขึ้น หรือคุณภาพของลูกหนี้เปลี่ยนไปแต่เราคงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกณ ตอนนี้ได้ และโดยส่วนตัวเชื่อว่า นโยบายต่างๆ ของทุกไฟแนนซ์ยังคงเหมือนเดิม ไปจนถึงกลางปี 2566”คุณเดชณรงค์ กล่าว
ด้านคุณรังสรรค์ สฤษดิ์เวชวรกุล ประธานชมรมรถสวยกาญจนา กล่าวเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวว่า กับนโยบายดอกเบี้ยใหม่ตัวนี้ที่ออกมาจะทำให้ผู้ที่เป็นเจ้าของรถ และครอบครองรถปีเก่าๆ (เกิน 10 ปีขึ้นไป) ที่ใช้อยู่ได้รับผลกระทบอย่างไร? ซึ่งตรงจุดนี้ตนมองว่า แน่นอนว่าหากไฟแนนซ์ ไม่ให้การสนับสนุนสินเชื่อรถปีเก่า เหมือนในอดีต ก็ย่อมทำให้ผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว ในกลุ่มรถปีเก่ามีปรับเปลี่ยนนโยบายการซื้อรถเข้าก็ย่อมทำให้ราคารับซื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งในมุมมองส่วนตัว หากสถานการณ์แบบนี้ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนโดยธรรมชาติ ก็อาจมีเวลาให้ทั้งผู้ประกอบการ และผู้ที่ครอบครองรถยนต์ทั่วไป ได้มีเวลาปรับตัว โดยไม่เกิดภาวะช็อกตลาด หรือที่เรียกว่า Panic
แต่หากเรื่องนี้ สื่อจะหยิบยกมาเป็นประเด็นทางสังคมที่ทำให้เกิด Panic หรือภาวะช็อกตลาด อาจส่งผลเสียทั้งระบบเป็นลูกโซ่ ทั้งรถใหม่ รถเก่าจะได้รับผลกระทบกันหมด หากเราทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าผู้ประกอบการทั้งรถใหม่และรถเก่า คงรู้สึกไม่สบายใจแน่ๆ หากเกิดภาวะ Panic เช่นในอดีต เพราะอย่าลืมว่าการที่รถยนต์ใหม่หรือรถมือสองจะขายได้นั้น ย่อมเกิดจากการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน
หากลูกค้าไม่สามารถขายรถคันเก่าออกไปได้ หรือ ขายคันเก่าออกไปได้ยากย่อมจะซื้อรถคันใหม่โดยสะดวกไม่ได้และหากรถยนต์ใหม่ขายได้น้อย ก็ทำให้สินค้าที่จะเข้ามาในระบบของรถมือสอง เกิดสะดุดอีก
ซึ่งบทเรียนในอดีตเป็นสิ่งที่เตือนใจพวกเราทุกคนว่า เราคงจะไม่อยากให้เกิดบรรยากาศที่เป็นเชิงลบต่อตลาดโดยรวมอีก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี