“หญ้าแฝก” เป็นพืชตระกูลหญ้าขึ้นเป็นกอหนาแน่น เจริญเติบโตโดยการแตกกออย่างรวดเร็ว เส้นผ่าศูนย์กลางกอประมาณ 30 เซนติเมตร ความสูงจากยอดประมาณ 0.5 ถึง 1.5 เมตร ลักษณะใบแคบยาวประมาณ 75 เซนติเมตร ความสูงจากยอดประมาณ 75 เซนติเมตร ความกว้างประมาณ 8 มิลลิเมตร ค่อนข้างแข็ง หญ้าแฝกจัดเป็นหญ้าเขตร้อนที่ขึ้น อยู่ตามธรรมชาติ กระจัดกระจายทั่วไปในสภาพแวดล้อมต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยจะพบหญ้าแฝกขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในพื้นที่ทั่วไปจากที่ลุ่มจน ถึงที่ดอน สามารถขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด
หญ้าแฝกมีลักษณะเด่นหลายประการ เช่น แตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง แตกหน่อและใบใหม่ได้โดยไม่ต้องดูแลมาก มีข้อที่ลำต้นถี่ ขยายพันธุ์โดยใช้หน่อได้ตลอดปี ส่วนใหญ่ไม่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด จึงควบคุมการแพร่ขยายได้ มีใบยาว ตัดและแตกใหม่ง่าย แข็งแรง ทนต่อการย่อยสลาย ระบบรากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ บริเวณรากเป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ ปรับตัวกับสภาพต่างๆ ได้ดี ทนทานต่อโรคพืชทั่วไป ดังนั้นจึงนิยมนำมาใช้เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ
โดยหากนำมาปลูกติดต่อกันเป็นแนวยาวขวางแนวลาดเทของพื้นที่ กอซึ่งอยู่เหนือดินจะแตกกอติดต่อกันเหมือนรั้วต้นไม้ สามารถกรองเศษพืชและตะกอนดิน ซึ่งถูกน้ำชะล้างพัดพามาตกทับถมดินติดอยู่กับกอหญ้าเกิดเป็นคันดินตามธรรมชาติได้ ซึ่งหญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึกเจริญเติบโตในแนวดิ่งมากกว่าออกด้านข้าง และมีจำนวนรากมากจึงเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี รากจะประสานติดต่อกันแน่นหนาเสมือนม่านหรือกำแพงใต้ดิน
สามารถกักเก็บน้ำและความชื้นได้ ระบบรากแผ่ขยายกว้างเพียง 50 เซนติเมตร โดยรอบกอเท่านั้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อพืชที่ปลูกข้างเคียง จัดเป็นมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยให้ดินมีความชื้นและรักษาหน้าดิน เพื่อใช้สำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ อีกทั้งด้วยความที่หญ้าแฝกเป็นเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลมากนัก จึงเป็นวิธีการที่ลงทุนน้อย อนึ่ง ยังมีการปลูกหญ้าแฝกเพื่อเป็นแนวกันชนระหว่างบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมกับแหล่งน้ำสาธารณะด้วย เนื่องจากหญ้าแฝกสามารถดูดซับโลหะหนักได้ดี
สำหรับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) พระราชทานพระราชดำริแก่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ณ สวนจิตรลดา และ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันที่ 22 และ 29 มิ.ย. 2534 สรุปดังนี้
1.ให้ศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดินในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2.การดำเนินการศึกษาทดลองการปลูกหญ้าแฝกให้พิจารณาลักษณะของภูมิประเทศ ซึ่งแบ่งได้ 2 ลักษณะของพื้นที่ ดังนี้
2.1. การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ภูเขาให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของทางลาดชัน และในร่องน้ำของภูเขาเพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินและช่วยเก็บความชื้นในดินด้วย 2.2. การปลูกหญ้าแฝกบนพื้นที่ราบให้ดำเนินการในลักษณะ ดังนี้ ปลูกโดยรอบแปลง ปลูกในแปลง แปลงละ 1 หรือ 2 แนว สำหรับแปลงพืชไร่ให้ปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ และ 3.ผลของการศึกษาทดลอง ควรเก็บข้อมูลทั้งด้านการเจริญเติบโตของลำต้นและราก ความสามารถในการอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของดินและการเก็บความชื้นในดินและเรื่องพันธุ์หญ้าต่างๆ ด้วย
จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านไป 3 ทศวรรษ มีการปลูกหญ้าแฝกอย่างแพร่หลายทั่วประเทศเนื่องจากได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำได้จริง ซึ่งล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งมีการจัด “พิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ครั้งที่ 12 (ประจำปี 2563-2565)” โดยมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธี
การประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จัดขึ้นโดยความร่วมมือของมูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กรมพัฒนาที่ดิน และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมการขยายผลการปลูกหญ้าแฝกให้เป็นแบบอย่างในการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างยั่งยืน
การจัดการประกวดครั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานโล่รางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการประกวด ส่วนผู้ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศและรางวัลชมเชยได้รับโล่พร้อมรับเกียรติบัตรจากองค์กรร่วมจัด โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 58 ผลงาน ซึ่งแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภทผลงาน คือ
1.ประเภทส่งเสริมการปลูกและขยายผล จำนวน 38 ผลงาน แบ่งออกเป็น พื้นที่ลาดชัน พื้นที่เชิงลาดแหล่งน้ำไหล่ทาง พื้นที่ดินเสื่อมโทรมและดินที่มีปัญหา พื้นที่แหล่งเรียนรู้และขยายผลความยั่งยืน และหน่วยงานและส่วนราชการที่ร่วมส่งเสริมการปลูกและขยายผลการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ มีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 14 ผลงาน 2.ประเภทส่งเสริมหัตถกรรมผลิตภัณฑ์จากใบหญ้าแฝก จำนวน 20 ผลงาน แบ่งออกเป็น ด้านความคิดสร้างสรรค์ ด้านออกแบบและถ่ายทอดองค์ความรู้ผลิตภัณฑ์ มีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 11 ผลงาน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ได้ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายดำเนินงานโครงการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 16 ปี เพื่อสืบสาน รักษาและต่อยอด แนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการใช้ประโยชน์จากหญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่งผลให้เกิดการขยายผลการปลูกและใช้ประโยชน์หญ้าแฝกอย่างแพร่หลายในภาคประชาชน ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับประเทศ
“มีแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับสถาบันการศึกษา หน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรเกิดการตื่นตัวหันมาปลูกหญ้าแฝกเพิ่มมากขึ้น เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายคนรักษ์แฝก ซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ดินและน้ำรวมถึงการต่อยอดจากรากสู่ใบ นำมาใบหญ้าแฝกมาออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ทันสมัย เป็นผลิตภัณฑ์ครัวเรือน กระเป๋า ฯลฯ สามารถผลิตเป็นสินค้าจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ‘ภัทรพัฒน์’ ของมูลนิธิชัยพัฒนา ช่วยเสริมสร้างรายได้และพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนอีกด้วย” นายอรรถพล กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี