บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้เปิดเผย ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือน (KR-ECI)ประจำเดือนธันวาคม 2565 พบว่า ยังคงมีระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ 34.7 จากในเดือนพ.ย. 2565 ที่ 35.0 (ลดลงเล็กน้อย) ซึ่งเดือนธ.ค.เป็นช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ครัวเรือนอาจมีความกังวลเพิ่มขึ้นจากการจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น อีกทั้ง ปัจจุบันการครองชีพของครัวเรือนยังได้รับแรงกดดันจากค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง โดยเดือนธ.ค. 2565 อัตราเงินเฟ้อไทยกลับมาเพิ่มขึ้นที่ 5.89%YoY หลังแผ่วต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน โดยราคาสินค้าในหมวดหมู่ผักและผลไม้ รวมถึงราคาพลังงานยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ในเดือนธ.ค. 2565 ประเทศไทยยังคงตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 35 บาทต่อลิตร เป็นเดือน 7 ติดต่อกันเช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยถูกตรึงไว้ที่4.72 บาทต่อหน่วย ไปจนถึงช่วงต้นปี 2566 (งวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2566) แต่ค่าไฟฟ้าสำหรับธุรกิจถูกปรับขึ้นเป็น 5.33 บาทต่อหน่วย จึงอาจกดดันให้การส่งผ่านราคาของผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภคมีมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ดัชนี KR-ECI 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่ 37.1 จาก 36.4 ในเดือนพ.ย.2565 แต่ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนช่วงเกิดโควิด-19โดยระยะข้างหน้าภาวะการครองชีพครัวเรือนยังมีแรงหนุนจากการออกชุดมาตรการของขวัญปีใหม่ปี 2566 ของภาครัฐ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี “ช้อปดีมีคืน” (สำหรับการซื้อสินค้าระหว่างวันที่1 ม.ค.-15 ก.พ. 2566) การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การเพิ่มวงเงินใช้จ่ายให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (200 บาทสำหรับเดือนม.ค. 2566) โครงการช่วยเหลือผู้กู้ยืมจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง ฯลฯ ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาภาระครองชีพประชาชนได้ระดับหนึ่ง
สำหรับผลสำรวจเพิ่มเติมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเกี่ยวกับสถานการณ์จ้างงานในองค์กรเดือนธ.ค. 2565 พบว่า 43.1% ระบุไม่มีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์จ้างงานในองค์กร โดยสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบเดือนมี.ค. 2565 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบของไทยที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 30.6% ขณะที่สัดส่วนการลดเวลาการทำงานนอกเวลา (OT) ลดลงมาอยู่ที่ 11.3% อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจึงมีสัดส่วนการชะลอรับพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นที่ 23.9%
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้มีการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับความกังวลต่อภาวะการครองชีพในปี 2566 พบว่า ครัวเรือนมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง อาทิ เงินเฟ้อ
ค่าไฟฟ้า (27.3%) รองลงมาเป็นความกังวลเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงาน (21.8%) ขณะที่ครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาของการแพร่ระบาดโควิด-19 (18.3%) อีกทั้งผลสำรวจพบว่าครัวเรือนนอกพื้นที่กรุงเทพมหานครมีสัดส่วนความกังวลเกี่ยวกับการแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำกินถึง 11.1% มากกว่าครัวเรือนในกรุงเทพมหานครที่ 1.4% ซึ่งเป็นผลจากความแตกต่างของรูปแบบการประกอบอาชีพของครัวเรือนในแต่ละพื้นที่
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงหลายประการทั้งภายในและนอกประเทศที่จะเข้ามาส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของดัชนี KR-ECI โดยเฉพาะการส่งผ่านราคาจากผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภคก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าของกลุ่มธุรกิจอีกทั้ง ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอการเติบโตลง การลุกลามของการระบาดโควิดระลอกใหม่
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี