นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่มีการดำเนินมาตรการทางภาษีตอบโต้ระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 2561 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและความขัดแย้งได้ขยายวงกว้างไปยังด้านอื่น โดยเฉพาะการแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี ซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเป็นมหาอำนาจของโลก
แนวโน้มการแข่งขันและการแบ่งขั้วทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น มีโอกาสส่งผลต่อไทย อาทิการเป็นแหล่งผลิตทางเลือกที่สามารถสนับสนุนเป้าหมายของสหรัฐฯ ในการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ โอกาสที่ไทยจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพที่สหรัฐฯ ให้การส่งเสริม ซึ่งเป็นสาขาที่สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของไทย และโอกาสในการดึงดูดการลงทุนของไทย จากการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงตามยุทธศาสตร์ China Plus One
นับต่อจากนี้ เทคโนโลยีจะเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนความเจริญทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติในมิติต่างๆ อีกทั้งสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะทำให้ภูมิทัศน์ของห่วงโซ่อุปทานทางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ไทยควรเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นดังนี้ (1) ส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ เพื่อให้ไทยสามารถพัฒนา/ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองและขยายฐานการผลิตและแข่งขันได้ต่อไปในอนาคต ตลอดจนดึงดูดแรงงานต่างชาติที่มีทักษะสูงหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี (2) เตรียมพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงเร่งพัฒนาแรงงานฝีมือและการฝึกอาชีพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป้าหมาย
(3) ปรับตัวให้สอดรับกับการแบ่งขั้วห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีสำคัญระหว่างสหรัฐฯ และจีนโดยยึดโยงกับห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศผ่านการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลาง ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ จีน และประเทศที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสหรัฐฯ เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานสำคัญภายใต้กรอบ IPEF และส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทยที่สอดรับกับเป้าหมายของสหรัฐฯ และจีน (4) เร่งส่งเสริมการค้าสินค้าเทคโนโลยีโดยในช่วง 5 ปี ล่าสุด (2560-2564) มูลค่าการส่งออกเทคโนโลยีระดับกลาง (เช่น เครื่องยนต์ ยานยนต์)ของไทยขยายตัวเฉลี่ย 3.6% ต่อปี ขณะที่สินค้าเทคโนโลยีระดับสูง (เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์) ขยายตัวเฉลี่ย 1.5% ต่อปีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ซึ่งอยู่ที่ 6.9%และ 4.2% ตามลำดับ จึงยังมีโอกาสที่ไทยจะส่งเสริมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับกลางและระดับสูงต่อไปได้อีก
(5) ลดความผันผวนของห่วงโซ่อุปทานและกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจไม่ให้พึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไปโดยส่งเสริมการสร้างพันธมิตรทางการค้า มองหาคู่ค้ารายใหม่ (6) เร่งส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีเป้าหมาย และ (7) ผลักดันการใช้สิทธิประโยชน์จากกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั้งระดับภูมิภาคและระดับอนุภูมิภาคโดยใช้ประโยชน์จากการยกเว้นภาษี/การเก็บภาษีระดับต่ำ และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin)
ภาครัฐและภาคเอกชนควรกระชับความสัมพันธ์ร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานและการลงทุนที่มีแนวโน้มย้ายสู่อาเซียนมากขึ้น อีกทั้งผนึกกำลังเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางเศรษฐกิจร่วมกับชาติพันธมิตรอาเซียน ทั้งนี้ ประเทศไทยควรบริหารความสัมพันธ์กับสองประเทศอย่างสมดุล มุ่งสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนที่เสรีและเป็นมิตรกับทุกประเทศ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี