"สุภิญญา"ยกเคสต่างประเทศจี้แพลตฟอร์มออนไลน์รับผิดชอบต่อสาธารณะ ไทยทำยากเพราะปชช.ไม่เชื่อมั่นภาครัฐ
บ่ายวันที่ 18 มี.ค. 2566 ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ถ.พุทธมณฑล สาย 5 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล นครปฐม มีกิจกรรมภาพยนตร์สนทนา หัวข้อ “รู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์” ซึ่งเป็นการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Social Dilemma เนื้อหาว่าด้วยอิทธิพลของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์และปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และมีกิจกรรมสนทนาหลังภาพยนตร์จบ โดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโคแฟค (ประเทศไทย) และอดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ซึ่งในตอนหนึ่ง น.ส.สุภิญญา ได้กล่าวถึงความพยายามของรัฐบาลในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ ว่า ปัจจุบันแม้กระทั่งสื่อมวลชนก็ยังลำบากเพราะเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มกันหมด ต้องจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นการมองเห็นของผู้ติดตามสื่อ และต้องทำเนื้อหาล่อเป้า (Clickbait) ที่ไม่มีคุณภาพเพื่อดึงให้คนเข้าไปดู ทำให้บริษัทแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ จากเมื่อหลายปีก่อนเป็นเพียงบริษัทสตาร์ทอัพแต่ต่อมาได้กลายเป็นบริษัทที่ดูจะใหญ่เหนีอรัฐเสียอีกเพราะทุกคนต้องขึ้นกับแพลตฟอร์ม
โดยเมื่อไปดูหลายประเทศจะเห็นความพยายามต่อรองกับบริษัทแพลตฟอร์มเพื่อให้เห็นความสำคัญของนโยบายสาธารณะมากขึ้น และไทยเองก็ควรจะทำเช่นกัน แต่ปัญหาคือคนไทยไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐ เมื่อเทียบกับรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา หรือของสหภาพยุโรป (EU) ที่เรียกแพลตฟอร์มไปเจรจาได้ ซึ่งที่ทำได้เพราะประชาชนให้ความเชื่อมั่นในระดับหนึ่งว่าจะรักษาผลประโยชน์สาธารณะไม่ใช่ปิดกั้นความคิดเห็น เพราะภาครัฐของประเทศเหล่านั้นพยายามรักษาสมดุลระหว่างความรับผิดชอบของเอกชนกับหลักการสิทธิมนุษยชน
“ในประเทศไทยเรา พอรัฐบาลหรือแม้แต่ กสทช. หรือกระทรวงดีอี ลุกขึ้นมาจะทำอะไรกับเฟซบุ๊กหรือติ๊กต๊อก คนไทยจะไม่เชียร์รัฐบาล เพราะส่วนหนึ่งเราไม่มีความเชื่อใจในรัฐบาลว่าเขาไปทำตรงนั้นเพราะเขาจะปกป้องประโยชน์สาธารณะของเราหรือปกป้องประโยชน์ของรัฐ นี่กลายเป็นจุดอ่อนมากๆ ที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ใหญ่ขึ้นๆ โดยที่คนไทยไม่มีอำนาจต่อรอง เพราะรัฐไม่ต่อรองให้เราที่เอาประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง” น.ส.สุภิญญา กล่าว
น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อไปว่า ยกตัวอย่างหน่วยงานของรัฐในไทยไม่ค่อยมีท่าทีเอาจริงเอาจรังกับโฆษณาที่กระทบต่อผู้บริโภค แต่จะตื่นเต้นต่อเมื่อเป็นเรื่องที่กระทบต่อการเมือง เรื่องผู้มีอำนาจ เรื่องความมั่นคงของรัฐ ซึ่งแบบนี้ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่อินเพราะรัฐไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ภาพรวมของประเทศ แต่เรื่องนี้อย่างไรก็ต้องอาศัยบทบาทของรัฐ เพราะรัฐมีอำนาจทางปกครอง สามารถสั่งให้แพลตฟอร์มทำหรือไม่ทำสิ่งต่างๆ ได้ และมีมาตรการดำเนินการหากฝ่าฝืน เช่น เก็บภาษีหรือไม่อนุญาตให้ทำธุรกิจ ดังนั้นทำอย่างไรจะสร้างความเชื่อมั่นต่อภาครัฐให้ได้ก่อน แล้วให้ภาครัฐมาเป็นปากเป็นเสียงของสาธารณะ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี