นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยเปิดเผยว่า ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย หรือ GDPปีนี้ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3.4% เป็น 3.3% หลังจากที่เศรษฐกิจไทยปีก่อนขยายตัวต่ำเพียง 2.6% แม้ปีนี้น่าจะเร่งขึ้นมาได้จากการท่องเที่ยวแต่ก็ต้องเผชิญความผันผวนจากเศรษฐกิจและการเงินโลกที่กระทบการส่งออก กำลังซื้อในประเทศน่าจะขยายตัวได้ดีตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ในกลุ่มโรงแรมร้านอาหาร อาหารและเครื่องดื่ม ขนส่ง และค้าปลีกค้าส่ง แต่หากเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้อคนไทยทั่วไป เช่น เสื้อผ้า รองเท้า เฟอร์นิเจอร์ การศึกษาและสุขภาพ อาจเติบโตได้แต่ไม่โดดเด่น
สำนักวิจัยฯ ตั้งข้อสังเกตว่าการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่า GDP มาโดยตลอด มาปีนี้น่าจะขยายตัว 3.5% สะท้อนว่าการใช้จ่ายของครัวเรือนจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากภาคการท่องเที่ยวที่สนับสนุนภาคบริการ แต่ไม่สามารถคาดหวังมากกับกำลังซื้อระดับล่าง เพราะรายได้ภาคเกษตรที่อ่อนแอ แม้ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นมาบ้าง ช่วยพยุงกำลังซื้อได้ดีขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้า แต่จากปัญหาเงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือนสูงที่ยิ่งได้รับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น น่าจะกระทบกำลังซื้อในช่วงไตรมาสสอง
แม้ว่าช่วงไตรมาสสองอาจมีแรงส่งจากกิจกรรมการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคมโดยเฉพาะเงินที่จะสะพัดเข้าชุมชนต่างจังหวัด เข้าถึงกลุ่มแรงงานรายได้น้อย ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น แต่ไม่มากพอจะสร้างงานและรายได้อย่างยั่งยืน เพียงประคองตัวช่วงรอจำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้นและกระจายไปในหลากหลายพื้นที่
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยง จะมาจากการล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลกระทบงบประมาณรายจ่ายที่นำมาใช้ไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม รวมถึงการลงทุนภาครัฐเติบโตต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า และเอกชนอาจเลื่อนการลงทุนการก่อสร้างโครงการใหม่ ส่วนการนำเข้าเครื่องจักรสำหรับโครงการใหม่ก็อาจเติบโตน้อยกว่าคาดไว้ก่อนหน้าตามเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอในสหรัฐและยุโรป อีกทั้งปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจทวีความรุนแรงขึ้น กดดันภาคการลงทุนของไทยปีนี้เติบโตช้ากว่าคาด สิ่งที่พอหวังได้ คือการย้ายฐานการผลิตจากจีนเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงจากปัญหาสงครามการค้านี้
ภาคการส่งออกมีแนวโน้มอ่อนแอกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะหดตัวราว 2.0%ในรูปดอลลาร์สหรัฐ หลักๆ มาจากวัฏจักรระยะสั้นของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นขาลง โดยเฉพาะกลุ่มฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ หลังครัวเรือนในสหรัฐและยุโรปสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากจากการระบาดโควิดก่อนหน้านี้จนเกิดกระแสทำงานที่บ้าน (WFH) ขณะที่กำลังซื้อสินค้ากลุ่มอื่นๆ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน กลุ่มเกษตรแปรรูปและอาหารแปรรูปก็ยังอ่อนแอ แต่ไทยน่าจะยังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากรายได้จากการท่องเที่ยวที่ดีกว่าคาด คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้จะสูงถึง 28 ล้านคน
สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายมองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งไปสู่ระดับ 2.00% ต่อปี ในรอบการประชุมวันที่ 31 พฤษภาคม เนื่องจากในการประชุมรอบเดือนมีนาคมที่ผ่านมากนง. มีมุมมองห่วงปัญหาเงินเฟ้อ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ปัญหาเสถียรภาพการเงินของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบหลังธนาคารบางแห่งในสหรัฐและยุโรปมีปัญหา
ด้านมุมมองเงินบาท มีโอกาสที่จะแกว่งตัวในกรอบ 33.50-34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงไตรมาสสองตามความไม่แน่นอนของราคาน้ำมันและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ประกอบกับช่วงไตรมาสสอง มักจะเห็นเงินทุนไหลออกในรูปเงินปันผลที่ถูกโอนไปต่างประเทศ และอาจทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลต่อเนื่องในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี สำนักวิจัยฯคาดว่าเสถียรภาพตลาดเงินตลาดทุนน่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะหลังมีความชัดเจนในการคงอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ และรายได้จากการท่องเที่ยวของไทยที่จะมากขึ้น โดยเรามองเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าในระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปลายปีนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี