สอวช. จับมือ สสว. และ BEDO ขับเคลื่อนการส่งเสริม SME ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ จุดประกายแนวคิดให้ SME ด้าน BCG เกือบ 5 แสนราย เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจ BCG สร้าง GDP เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาทในปี 2570
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) (สพภ.) หรือ BEDO จัดงานสัมมนา “ปรับแนวคิดเพื่อเปลี่ยนโลก: ยกระดับ SME ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ”
โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช . กล่าวว่า การสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bioeconomy ของประเทศไทย รวมถึงแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพตลอดห่วงโซ่อุปทาน และแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงโอกาสในการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของไทยด้วย Bio-Circular-Green Economic Model (BCG) และ สอวช. มีบทบาทและภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมให้เหมาะสม ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ SME ในการประยุกต์ใช้แนวคิด BCG ด้วยฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงขึ้น รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือ BCG Indicators ขึ้นในการเชื่อมโยงมาตรการและการขับเคลื่อนระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อการสนับสนุนและยกระดับ MSME/SME ให้มีการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของประเทศ สามารถเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยสร้างมูลค่า GDP เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาทภายในปี 2570 ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เกิดการพึ่งพาตัวเองได้ อีกทั้งช่วยตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติอีกด้วย
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. เปิดเผยว่า จากการดำเนินธุรกิจของนานาประเทศที่มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นได้ทั้งโอกาสหรืออุปสรรคในการทำธุรกิจ ขณะที่ผู้ประกอบการ SME ไทยกว่า 3.2 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 99.5 ของวิสาหกิจทั้งประเทศ ยังมีการพัฒนาตามแนวทางดังกล่าวไม่แพร่หลายนัก สสว. ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดนโยบายและทิศทางการส่งเสริม SME ของประเทศ ภายใต้แผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) จึงกำหนดแนวทางการส่งเสริมให้ SME ปรับตัวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการประยุกต์ใช้ BCG Economy เพื่อยกระดับและเพิ่มโอกาสที่จะเข้าสู่การแข่งขันระดับโลก ลดอุปสรรคจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
นายวีระพงศ์ กล่าวว่า จากฐานข้อมูลของ สสว. พบว่า ผู้ประกอบการ SME ที่เกี่ยวข้องกับ BCG โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่มีจำนวนผู้ประกอบการ SME มากที่สุด ประกอบด้วยกลุ่มเกษตรและอาหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ เภสัชภัณฑ์หรือยาชีวภาพ และกลุ่มพลังงานชีวภาพ ฯลฯ มีจำนวนรวม 469,767 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.7 ของจำนวน SME ทั้งประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1,809,338 คน มีมูลค่าการส่งออก 559,328 คิดเป็นร้อยละ 52.8 ของมูลค่าการส่งออกรวมของ SME และมีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่ม (GDP SME) 569,824 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.3 ของ GDP SME เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ ภายใต้แผนปฏิบัติการของ สสว. ในปี 2566 มีการส่งเสริม SME กลุ่ม BCG โดยร่วมกับ สอวช. ดำเนินโครงการขับเคลื่อนระบบการส่งเสริมธุรกิจ MSME ด้วย BCG เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในการนำ BCG ไปปรับใช้ พัฒนาเครื่องมือวัด และเกณฑ์ที่เหมาะสมกับ SME ขณะเดียวกัน สสว. ยังมีเครื่องมือสนับสนุน SME ไม่ว่าจะเป็น มาตรการ SME ปังตังได้คืน หรือโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระบบ SME One ID ฯลฯ
ด้าน นางสุวรรณา เตียรถ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ สพภ. เปิดเผยว่า การดำเนินงานของภาคธุรกิจในปัจจุบันไม่เพียงแต่จะมุ่งเน้นเพื่อแสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ภาคธุรกิจยังต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนข้อกำหนดของมาตรฐานต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด สพภ. หรือ BEDO เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจจากความหลากหลายทางชีวภาพและพัฒนานวัตกรรม เครื่องมือ กลไก เพื่อนำไปสู่เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนโดยเฉพาะการส่งเสริมให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ
BEDO ได้พัฒนาเครื่องมือการตรวจประเมินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Business & Biodiversity Check) ในการประเมินผลกระทบในกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้ง 9 ประเด็น ที่อาจส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพจากการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการยกระดับภาคธุรกิจนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายหรือปรับเปลี่ยนวิธีการให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ และประกอบการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลต่างๆ ของบริษัท เช่น ESG (Environmental, Social, Governance) การจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) ตามแนวทาง GRI (Global Reporting Initiative) ดัชนีหลักทรัพย์ DJSI (Dow Jones Sustainability Index)
สำหรับงานสัมมนา “ปรับแนวคิดเพื่อเปลี่ยนโลก: ยกระดับ SME ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ” ยังได้รับเกียรติจากนายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมให้ทิศทางและนโยบายการขับเคลื่อน BCG ของไทยสู่สากล นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ ร่วมฉายภาพอนาคตเศรษฐกิจชีวภาพของไทย นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอแนวทางการพัฒนา BCG Indicator และมุมมองของผู้ประกอบการต้นแบบ ได้แก่ บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรัก ตัวแทนผู้ประกอบการ SME ที่ประสบความเร็จในการดำเนินธุรกิจชีวภาพ มาร่วมถ่ายทอดแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ไทย สามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ สร้างสมดุลต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พึ่งพาตัวเองเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนต่อไป
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี