นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 30 ในเดือนมิถุนายน 2566 ภายใต้หัวข้อ “การส่งออกหดตัวกระทบอุตสาหกรรมแค่ไหน” พบว่า ผลจากตัวเลขการส่งออกของไทยที่ส่งสัญญาณหดตัวต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. 210 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า ภาพรวมการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2566 ส่วนใหญ่มีทิศทางหดตัว ถึงแม้จะมีบางอุตสาหกรรมที่ยังสามารถรักษาระดับการส่งออกไว้ได้
ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญมาจากคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐอเมริกา จีน และอาเซียน นอกจากนี้ภาวะต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงทั้งราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวสูงขึ้น ยังคงส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม
นายมนตรี กล่าวว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐเร่งช่วยกระตุ้นการส่งออก และบรรเทาผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว โดยเฉพาะการออกมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ อาทิ ค่าไฟฟ้า พลังงาน ค่าโลจิสติกส์ การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และการส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในเอฟทีเอฉบับเดิมให้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดเป้าหมายใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ กิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ การจัดงานแสดงสินค้าทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ จากการสำรวจมี 5 คำถาม ประกอบด้วย 1.ยอดการส่งออกสินค้าในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2566 ส่วนใหญ่ทิศทางทรงตัว 27.7% และลดลงมากกว่า 20% คิดเป็น 23.3% 2.ตลาดประเทศคู่ค้าไทยที่มีผลต่ออุตสาหกรรมส่งออกสินค้ามากที่สุด คือ เอเชียไม่รวมอาเซียน 36.2% 3.ปัจจัยภายในเรื่องใดที่ทำให้การส่งออกสินค้าของอุตสาหกรรมหดตัว คือ ภาวะต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงทั้งราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ราคาวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 69.5% 4.ปัจจัยภายนอกที่ทำให้การส่งออกสินค้าของอุตสาหกรรมหดตัว คือ คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัว 71.4% และ 5.ภาคอุตสาหกรรมต้องการให้ภาครัฐกระตุ้นการส่งออก และบรรเทาผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว ด้วยการออกมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้ อาทิ ค่าไฟฟ้า พลังงาน ค่าโลจิสติกส์ 80.0%
วันเดียวกันศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการภาพรวมของการส่งออกในเดือนพฤษภาคม และ 5 เดือนแรกปี’66 โดยระบุว่าภาพรวมการส่งออกรายกลุ่มสินค้าในเดือน พ.ค. ส่วนใหญ่หดตัว นำโดย 1.สินค้าเกษตรหดตัวแรงในรอบ 4 เดือน -27% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) หลังจากขยายตัว 23.8% ในเดือนก่อนหน้า มีปัจจัยกดดันสำคัญจากการส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และยางพาราที่หดตัวแรง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปจีนที่ชะลอตัวลง 2.สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -0.6% แต่หดตัวน้อยลงจาก -12.0% ในเดือนก่อนหน้าปัจจัยกดดันสำคัญจากการส่งออกไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ที่หดตัว -63% หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ -34.3% 3.สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัว -39.9% หดตัวมากขึ้นจาก -13.7% ในเดือนก่อน จากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัว -40.9% หลังจากหดตัว -17.2% ในเดือน เม.ย. ขณะที่ 4.สินค้าอุตสาหกรรม (มีสัดส่วนการส่งออกรวม 78.6%) พลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ 1.5% จากการส่งออกอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบที่ขยายตัว 524.5% ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานต่ำสินค้า
SCB EIC มองการส่งออกไทยในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันมากกว่าที่เคยประเมินไว้ จาก 1.แรงหนุนสำคัญจากจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน การนำเข้าสินค้าไทยของจีนในเดือน พ.ค. กลับมาหดตัวแรงอีกครั้ง -11.2% หลังขยายตัวได้ครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ 8.2% ในเดือน เม.ย. สอดคล้องกับภาพรวมการนำเข้าของจีนที่ส่วนใหญ่ยังหดตัวต่อเนื่องมา และภาพรวมการส่งออกของจีนที่หดตัวแรง-8% เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนตามอุปสงค์โลกที่ยังอ่อนแอ 2.ดัชนี Flash Manufacturing PMI[1] ในเดือนมิ.ย.ของประเทศคู่ค้าสำคัญยังอยู่ในภาวะหดตัวจากอุปสงค์สินค้าที่อ่อนแอ นำโดย US Manufacturing PMI ที่ลดลงมาอยู่ที่ 46.3 (48.4 ในเดือน พ.ค.) Eurozone Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 43.6 ต่ำสุดในรอบ 37 เดือน UK Manufacturing PMI ลดลงมาอยู่ที่ 46.2 Japan Manufacturing PMI พลิกกลับมาหดตัวอีกครั้งที่ 48.4 หลังจากขยายตัวได้ครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2022 ที่ 50.8 ในเดือน พ.ค.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี