‘M Flow’กับปัญหา‘ค่าปรับ10เท่า’แม้พลาดครั้งแรก แนะเปลี่ยนเกณฑ์แบบ‘ขั้นบันได’เพื่อความเป็นธรรม
“ทางด่วน” เป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถใช้ถนนในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลน่าจะคุ้นเคยกันดี ซึ่งหากนับตั้งแต่ “ทางพิเศษเฉลิมมหานคร” ทางด่วนสายแรกของไทย เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2524 จนปัจจุบันก็ใกล้จะครบ 42 ปีแล้ว และมีการขยายไปอีกหลายเส้นทาง ทางด่วนนั้นเป็นถนนปิดมีที่กั้นทางเข้า-ออกแยกเฉพาะ โดยที่ทั้งแบบทางยกระดับและที่เป็นทางราบ ซึ่งอย่างหลังนี้เป็นที่คุ้นเคยในชื่อ “มอเตอร์เวย์” เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา เป็นต้น
ทางด่วนนั้นเป็น “ทางพิเศษ” ที่ผู้ใช้บริการต้อง “เสียค่าผ่านทาง” ในระยะแรกยังเป็นเพียงการใช้พนักงานนั่งประจำด่านเก็บเงิน คอยรับค่าผ่านทางและควบคุมการเปิด-ปิดไม้กั้นทาง ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้นก็นำระบบ “อีซี่พาส (Easy Pass)” หรือบัตรที่ใช้ในระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection System: ETC) มาใช้ โดยผู้ที่ต้องการใข้บัตรนี้ต้องเปิดบัญชีและเติมเงินเพื่อเป็นเงินสำรองค่าผ่านทางล่วงหน้า ตั้งแต่ 300 บาทขึ้นไป แต่ก็เป็นระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกและลดปัญหาการจราจรติดขัดสะสมหน้าด่านเก็บเงิน เพราะผู้ใช้รถไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวรอจ่ายเงินและรับเงินทอนจากพนักงาน
ล่าสุดเมื่อเดือน ก.พ. 2565 ได้พัฒนาไปอีกขั้นกับระบบ “เอ็ม โฟลว์ (M Flow)” ที่เป็นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาพัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ ซึ่งความแตกต่างระหว่าง M Flow กับ Easy Pass คือ ในขณะที่ระบบ Easy Pass การชำระเงินยังต้องหยุดรถชั่วขณะหนึ่งเพื่อชำระเงินกับระบบอัตโนมัติแล้วไม้กั้นทางจะเปิดออกไห้ไปต่อได้ แต่ระบบ M Flow จะไม่มีไม้กั้นทำให้ไม่ต้องหยุดรถ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ mflowthai.com ระบุว่า ระบบ M Flow จะช่วยระบายรถได้ 2,000 - 2,500 คัน/ชม./ช่องทาง เร็วขึ้นกว่าระบบเดิมถึง 5 เท่า
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ระบบ M Flow เริ่มเปิดให้บริการ พบเสียงสะท้อนจากประชาชน อาทิ “ป้ายแบ่งช่องผ่านทางตามระบบการชำระเงินไม่ชัดเจน” โดยด่านเก็บค่าผ่านทางนั้นจะมีทั้ง 3 ระบบ คือการจ่ายเงินสดกับพนักงาน ระบบ Easy Pass และระบบ M Flow ในช่วงแรกๆ ถึงขั้นทำการจราจรหน้าด่านเก็บเงินติดขัดอีกทั้งเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากหลายคนขับมาใกล้ถึงด่านแล้วเพิ่งเห็นว่าเข้าช่องผิดก็รีบเปลี่ยนเลนกะทันหัน รวมถึง “ค่าปรับอย่างโหด” โดยผู้ที่ไม่ได้สมัครสมาชิกหากเผลอวิ่งเข้าไปแล้วไม่จ่ายค่าผ่านทางภายใน 2 วันก็จะถูกปรับ 10 เท่าของค่าผ่านทาง
“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เคยท้วงติงเรื่องนี้ในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2565 อันเป็นช่วงที่เพิ่งเปิดให้ใช้ระบบ M Flow ใหม่ๆ ว่า ระบบที่บีบให้ผู้บริโภคที่ไม่ทราบต้องจ่ายค่าปรับในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ เนื่องจากในเวลานั้นยังเปรียบเสมือนการเปิดเพื่อทดลองระบบ เพราะเปิดเพียงแค่ 4 ด่าน อีกทั้งยังประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนส่วนมากไม่รู้ข่าวสาร โดยไม่แจ้งว่าต้องชำระภายในกี่วันให้ชัดเจน
นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นในเวลานั้นว่า การที่ผู้บริโภคจ่ายเลยเวลาที่กำหนดไม่ได้หมายความว่าจะไม่จ่าย จึงควรจะมีระบบแจ้งเตือนให้จ่ายก่อนที่ต้องจ่ายค่าปรับ แต่การแจ้งเตือนจะมีเฉพาะคนที่เป็นสมาชิก ส่วนคนที่ไม่เป็นสมาชิกจะทำหนังสือแจ้งส่งให้ทางที่อยู่ตามบัตรประชาชน ซึ่งอาจจะไม่ทันตามเวลาที่กำหนด และการคิดค่าปรับถึง 10 เท่ายังเป็นภาระในการจ่าย เป็นการคิดค่าปรับที่สูงกว่าเบี้ยปรับตามกฎหมายทั่วไป หรือ ตาม พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้การคิดค่าติดตามทวงถามหนี้ต้องมีหนี้ค้างเกิน 1 งวด
“การเปิดระบบ M-flow ที่เพิ่งมีครั้งแรกและเพิ่งเปิดใช้บริการ ควรประชาสัมพันธ์ข้อมูลไว้เบื้องต้นถึงการใช้ระบบช่องทางนี้ก่อน รวมถึงมาตรการการจ่ายค่าปรับและต้องจ่ายภายในระยะเวลาเท่าไร แต่เพราะขาดกระบวนการประชาสัมพันธ์และขาดการทำความเข้าใจกับผู้บริโภค ทำให้ประชาชนหลายคนเข้าใจผิด ไม่รู้ข้อมูลที่ชัดเจน” รอง ผอ.ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว
อีกด้านหนึ่ง หน่วยงานกำกับดูแลก็มิได้นิ่งนอนใจ โดย กระทรวงคมนาคม และ กรมทางหลวง มีโครงการ “คืนค่าปรับ” สำหรับคนที่ต้องจ่ายกรณีแผลอขับรถผ่านช่อง M Flow ในช่วงแรกๆ ของการเปิดให้ใช้ระบบนี้ กระทั่งปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 อีกทั้ง “แก้ระเบียบการปรับ 10 เท่า จากเดิมที่จะเริ่มใช้หากไม่จ่ายภายใน 2 วันหลังวิ่งรถผ่านทาง เพิ่มให้เป็น 7 วัน” มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565 เป็นต้นมา โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
“สำหรับสมาชิก M Flow” หากไม่จ่ายค่าบริการภายใน 7 วัน หลังจากวันที่ผ่านทาง จะต้องจ่ายค่าเสียหาย 2 เท่าของค่าผ่านทาง (เช่น ค่าผ่านทาง 30 บาท ต้องจ่าย 60 บาท) และหากไม่จ่ายภายใน 15 วัน ก็จะต้องจ่ายทั้งค่าเสียหาย 2 เท่าของค่าผ่านทาง + ค่าปรับ 10 เท่าของค่าผ่านทาง + ค่าปรับฐานไม่มาชี้แจง 200 บาท (เช่น ค่าผ่านทาง 30 บาท ต้องจ่ายค่าเสียหาย 2 เท่า คือ 60 บาท + ค่าปรับ 10 เท่าของค่าผ่านทาง คือ 300 บาท + ค่าปรับฐานไม่มาชี้แจง 200 บาท รวม 560 บาท)
“สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก M Flow” กรณีไม่จ่ายค่าบริการภายใน 7 วัน หลังจากวันที่ผ่านทาง จะต้องจ่ายค่าผ่านทางตามยอดจริง + ค่าปรับ 10 เท่าของค่าผ่านทาง (เช่น ค่าผ่านทาง 30 บาท + ค่าปรับ 10 เท่า คือ 300 บาท รวม 330 บาท) และหากไม่จ่ายภายใน 15 วัน ก็จะต้องจ่ายทั้งค่าผ่านทางตามยอดจริง + ค่าปรับ 10 เท่า + ค่าปรับเพิ่มฐานไม่มาชี้แจง 200 บาท (เช่น ค่าผ่านทาง 30 บาท + ค่าปรับ 10 เท่า คือ 300 บาท + ค่าปรับเพิ่มฐานไม่มาชี้แจง 200 บาท รวม 530 บาท) นอกจากนั้นยังอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายพ.ร.บ.ทางหลวง ซึ่งมีโทษปรับสูงสุดถึง 5,000 บาท
ทั้งนี้ “การสมัครใช้บริการ M Flow” สามารถสมัครได้ 3 ช่องทาง คือ 1.เว็บไซต์ www.mflowthai.com 2.แอปพลิเคชั่นโทรศัพท์มือถือ: MFlowThai (รองรับทั้งระบบ IOS และ Andriod) และ 3.จุดบริการ 5 จุด คือ 3.1 ด่านทับช้าง 1 ขาเข้า เวลา 08.30 น. - 19.30 น. 3.2 ด่านทับช้าง 2 ขาออก เวลา 08.30 น. - 19.30 น. 3.3 สถานที่บริการทางหลวงบางประกง 1 ขาออก เวลา 08.30 น. - 19.30 น. 3.4 สถานที่บริการทางหลวงบางประกง 2 ขาเข้า เวลา 08.30 น. - 19.30 น. และ 3.5 กรมทางหลวง (พระราม 6) เวลา 08.30 น. - 16.30 น.
แม้ระบบ M Flow จะเปิดใช้มาแล้วกว่าปีเศษและมีจำนวนผู้สมัครสมาชิกเพิ่มขึ้น ตามรายงานของกรมทางหลวง เมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 2566 ที่ระบุในเวลานั้นว่ามีรถยนต์ที่เป็นสมาชิกในระบบประมาณ 5.5 แสนคัน แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า “ผู้ใช้ทางพิเศษมีทั้งขาจรและขาประจำ” ทำให้ยังพบปัญหาความสับสนในการเข้าช่องชำระค่าผ่านทาง แม้ระยะหลังๆ จะมีการจัดระเบียบให้ช่อง M Flow เริ่มจากด้านขวาสุดแล้วเรียงเข้ามาก็ตาม
เสียงสะท้อนของผู้ใช้บริการทางพิเศษเป็นประจำท่านหนึ่ง ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “ช่อง M Flow แต่ละด่านเพิ่มขึ้น ในขณะที่ช่องจ่ายเงินสดและช่องจ่ายด้วยบัตร Easy Pass ลดลง” แม้จะเข้าใจได้ว่าต้องการส่งเสริมให้คนหันมาใช้ระบบ M Flow กันมากขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกทั้งต่อผู้ใช้รถเองและลดปัญหาการจราจรติดขัดในภาพรวม แต่อีกด้านก็ทำให้เกิดความสับสน เพราะผู้ใช้รถ “ขาจร” ไม่ได้ผ่านทางนั้นบ่อยๆ อาจเข้าใจว่าเป็นช่องว่างๆ จึงขับผ่านไป ก่อนจะรู้ตัวอีกทีว่าเข้าช่องผิดตามด้วยการถูกปรับ 10 เท่า ในวันที่เจอหนังสือแจ้งให้ไปชำระค่าปรับแล้ว
ขณะที่เรื่องของค่าปรับ มองว่าควรแก้ไขให้เป็นการ “ปรับตามขั้นบันได” เช่น ในช่วงการเตือนครั้งแรกเมื่อครบ 7 วันหลังผ่านระบบ M Flow แต่ไม่ได้จ่ายค่าผ่านทาง อาจปรับสัก 2 เท่าของค่าผ่านทาง แล้วหลังจากนั้นระยะหนึ่งหากยังไม่มาจ่าย การเตือนครั้งต่อไปก็ค่อยๆ เพิ่มอัตราค่าปรับให้สูงขึ้น ไปจนถึงดำเนินการตามกฎหมายตามลำดับจากเบาไปหาหนัก ก็จะเกิดความเป็นธรรมมากขึ้น!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี