นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่าเศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีช่วงไตรมาส 2/2566 มีอัตราการเติบโต 1.8% ชะลอลงจากการขยายตัว 2.6% ในไตรมาสแรกของปี 2566 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2566 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2566 ที่ 0.2% ค่อนข้างต่ำกว่าคาดการณ์ จากสาเหตุภาคส่งออกติดลบ 5.7% เป็นการหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน และการผลิตภาคอุตสาหกรรม ติดลบ 3.3% รวมถึงการอุปโภค-บริโภคของภาครัฐ ติดลบ 4.3% โดยครึ่งปีแรกเศรษฐกิจขยายตัว 2.2% หลักๆ มาจากรายได้ภาคท่องเที่ยว
สศช.ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีลงจากคาดว่า จะอยู่ที่ 2.7-3.7% มาอยู่ที่ 2.5-3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภค-บริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยคาดว่าการอุปโภค-บริโภคและการลงทุนรวมจะขยายตัว5.0% และ 1.6% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.7-2.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2% ของจีดีพี
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปี 2566 ได้แก่ 1.เงื่อนไขทางการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ 2.เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าคาด และความผันผวนในตลาดการเงินโลก 3.ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจ ที่ยังอยู่ในระดับสูง ท่ามกลางภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 2.ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร
การบริหารนโยบายเศรษฐกิจช่วงเหลือของปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับ 1. การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศรวมทั้งรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการติดตามป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก2. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยเร่งรัดกระบวนการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567
3.สนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและการสร้างการรับรู้ต่อมาตรการ Long-term Resident VISA (LTR) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพโดยเฉพาะกลุ่มพำนักระยะยาว การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองที่มีศักยภาพ
4.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรโดยการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เพียงพอต่อการผลิต การเพิ่มส่วนแบ่งให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตขั้นสุดท้ายมากขึ้นการดำเนินมาตรการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่เกษตรกรผ่านการส่งเสริมระบบประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของสภาพอากาศ และการบรรเทาผลกระทบจากปัญหาต้นทุนวัตถุดิบทางการเกษตรที่ยังอยู่ในระดับสูง
5.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าเพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยการอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดี และสร้างตลาดใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง การป้องกันและแก้ไขปัญหากีดกันทางการค้าโดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีของประเทศคู่ค้าสำคัญ ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก
6.ส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2563-2565 ให้เกิดการลงทุนจริง แก้ไขปัญหาอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ควบคู่ไปกับการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกเพื่อดึงดูดนักลงทุน ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี