วันที่ 14 กันยายน 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แถลงมอบนโยบายในการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมว่า นโยบายเร่งด่วนที่ตนจะต้องดำเนินการ คือ การเพิ่มตารางการบิน (Slot) และการบริหารจัดการพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน เพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ
โดยขณะนี้ได้มอบให้ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ ดำเนินการตามนโยบาย ซึ่งขณะนี้ทราบว่าได้มีการจัด Slot การบินสำหรับฤดูหนาวนี้สามารถเพิ่มเที่ยวบินได้มากขึ้นอย่างน้อย 15% ต่อสัปดาห์เมื่อเทียบกับ Slot ช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวหลักอย่างตลาดจีนจะเพิ่มมากขึ้นกว่า 5 ล้านคน จากนโยบาย VISA Free สำหรับนักท่องเที่ยวจีนตลอดฤดูท่องเที่ยวที่จะถึงนี้
ทั้งนี้ในส่วนของนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) พิจารณาแนวทางปฏิบัติในการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า และประเมินผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปพร้อมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ต.ค.นี้
ขณะเดียวกันได้มอบหมายงานให้ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมดูแลรับผิดชอบแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมี 8 กรม 12 รัฐวิสาหกิจ 2 หน่วยงานอิสระ ได้แก่ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวม 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.กรมเจ้าท่า (จท.) 2.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 3.การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) 4.สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) และ 5.บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด
ทั้งนี้ให้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวม 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 2.กรมการขนส่งทางราง (ขร.) 3.บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 4.การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 5. บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด 6.บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) 7.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ 8.บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ส่วนที่เหลืออีก 9 หน่วยงานตนจะกำกับดูแล ประกอบด้วย 1.กรมทางหลวง (ทล.) 2.กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 3.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 4.บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. 5.กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 6.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) 7.สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) 8.สถาบันฝึกอบรมระบบราง และ 9.สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี