วันที่ 7 ต.ค. 2566 “GISTDA” สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ถ่ายทอดสดการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่วงโคจร ณ ท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ ทางเพจเฟซบุ๊กและช่องยูทูบของ GISTDA โดยเริ่มถ่ายทอดตั้งแต่เวลาประมาณ 07.30 น. จากจากสถานีควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี นายพรเทพ นวกิจกนก ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ THEOS-2 พร้อมด้วยวิศวกรในโครงการ 2 ท่าน คือ นายจักรพันธ์ ปรียายุพันธ์ และ น.ส.ทิพวรรณ วันวิเวก ร่วมบรรยายให้ข้อมูล
โดยการส่งดาวเทียม THEOS-2 ใช้จรวด VEGA Flight VV23 ของ Arianespace บริษัทสัญชาติฝรั่งเศสที่มีความเชี่ยวชาญในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ให้บริการตั้งแต่ 1.วงโคจรระดับต่ำ (Low Earth Orbit) สำหรับดาวเทียมถ่ายภาพ ซึ่งเป็นความสูงที่ดาวเทียม THEOS-2 จะขึ้นไปอยู่ 2.วงโคจรระดับปานกลาง (Medium Earth orbit) สำหรับดาวเทียมนำทาง จนถึง 3.วงโคจรค้างฟ้าหรือวงโคจรประจำที่ (Geostationary Orbit) สำหรับดาวเทียมสื่อสาร
จรวด VEGA สามารถบรรทุก Payload ได้ตั้งแต่น้ำหนัก 300-2,500 กิโลกรัม มีส่วนประกอบ 4 ส่วน คือ 1.Lower Stage เชื้อเพลิงแข็ง จุดแล้วต้องเผาไหม้ให้หมด แล้วเปลือก (Shell) แต่ละท่อนจะตกลงสู่พื้นโลก 2.Upper Stage เชื้อเพลิงเหลว จุดได้หลายครั้ง มีระบบสื่อสาร On Board สามารถ Payload ดาวเทียมขึ้นไปสู่วงโคจรที่เหมาะสมได้ 3.Fairing ส่วนนี้จะประกบกับดาวเทียม กระทั่วเมื่อถึงวงโคจรที่เหมาะสมก็จะหลุดออกและตกลงสู่พื้นโลก และ 4.Payload หรือดาวเทียม ที่สามารถส่งได้ทั้งดวงเดียวและหลายดวงในการขึ้นสู่อวกาศ 1 ครั้ง
ส่วนสถานที่ส่งนั้นคือท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา (Guiana Space Centre) ตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรประมาณ 5 องศา เหตุที่ต้องเน้นความใกล้เส้นศูนย์สูตรเพราะจะช่วยให้การส่งจรวดใช้เชื้อเพลิงน้อยลง ซึ่งในทางเทคนิดมีศัพท์ว่า Slingshot Effect อีกทั้งที่ตั้งยังอยู่ใกล้ทะเล เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องเปลือกท่อนเชื้อเพลิงที่ใช้หมดในการปล่อยจรวดร่วงหล่นสู่พื้นดิน
ส่วนที่ต้องเลือกส่งในเวลากลางคืนตามเวลาของท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา คือประมาณ 22.00 น. หรือเวลาไทยคือประมาณ 08.00 น. เพราะเป็นการส่งดาวเทียมขึ้นทางทิศเหนือเพื่อให้ชิ้นส่วนจรวดตกสู่ทะเล อีกทั้งวงโคจรในการส่งจะต้องล้อกับวงโคจรของดาวเทียม ซึ่ง THEOS-2 มีวงโคจรขาขึ้นในตอนกลางคืนและขาลงในตอนกลางวัน ในขณะที่ดาวเทียม THEOS ที่เคยส่งไปก่อนหน้านี้ในปี 2551 ส่งในตอนกลางวัน ที่ฐานส่งจรวดในเมืองยาสนี ประเทศรัสเซีย ตามเวลารัสเซียคือประมาณ 11.00 น. หรือเวลาไทยประมาณ 13.00 น. แต่ก็ส่งขึ้นทางทิศเหนือเช่นกัน
จากนั้นในเวลาประมาณ 08.20 น. ภาพได้ตัดไปยังท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังเตรียมการปล่อยจรวด VEGA Flight VV23 ขึ้นสู่อวกาศ โดยนอกจาก THEOS-2 ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทยแล้ว ยังจะมีดาวเทียม FORMOSAT-7R ของไต้หวัน และดาวเทียมอีก 10 ดวง ของ ESA หรือองค์การอวกาศแห่งสหภาพยุโรป (EU) ร่วมเดินทางไปด้วย
เวลา 08.37 น. ตามเวลาประเทศไทย ระบบแจ้งเตือนพบปัญหาจากอุปกรณ์บางอย่าง ทาง Arianespace รวมถึง Airbus ที่เป็นผู้พัฒนาดาวเทียม THEOS-2 ร่วมกับ GISTDA จึงต้องขอเวลาตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดกับทั้งจรวดและดาวเทียม จากนั้นเวลา 08.42 น. ได้รับการยืนยันว่ายังไม่สามารถส่งดาวเทียมได้ในขณะนี้ โดยบรรยากาศในห้องควบคุมของท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องจากประเทศต่างๆ ที่เข้ามารอชมการปล่อยจรวดก็รู้สึกเสียดาย ส่วนจะปล่อยได้เมื่อใดนั้นต้องรอคำยืนยันกันอีกครั้ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี