กรมการค้าต่างประเทศ เผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ GSP ส่งออกไป 4 ตลาด (สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และ CIS) ช่วง 7 เดือนแรกปี 2566 มีมูลค่ารวม 2,017.86 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศสหรัฐ นำโด่งการใช้สิทธิ์สูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 91.90% ของการส่งออกที่มีการใช้สิทธิ์ ระบุ ถุงมือกีฬากอล์ฟ เบสบอล แข่งรถจักรยานยนต์ทางเรียบ มีการใช้สิทธิ์ส่งออกพุ่งอย่างมาก หลังการแข่งกีฬากลับมาคึกคัก
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถิติการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออก ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ที่ประเทศไทยได้รับในปัจจุบัน ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ,ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, ประเทศนอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ในช่วง
7 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-กรกฎาคม 2566) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,017.86 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ์ประมาณ 53% ของมูลค่าการส่งออกที่ประเทศไทยได้รับสิทธิ์ทั้งหมด และตลาดที่ประเทศไทยมีการใช้สิทธิ์ GSP ส่งออกมากที่สุด คือ ประเทศสหรัฐฯ มีมูลค่าอยู่ที่ 1,854.57 ล้านเหรียญสหรัฐคิดเป็นสัดส่วน 91.90% ของมูลค่าการส่งออกรวมที่ใช้สิทธ์ิ GSP
สำหรับการใช้สิทธิ์ภายใต้ GSP ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศสหรัฐฯนั้น สินค้าที่มีความน่าสนใจและมีอัตราการเติบโตได้ดีตามปริมาณความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น จากการแข่งขันกีฬารายการต่างๆ ที่กลับมาคึกคักอย่างต่อเนื่อง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง เช่น ถุงมือสำหรับกีฬากอล์ฟ เบสบอล และการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ์อยู่ที่ 26.74 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยประเทศสหรัฐฯมีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศไทยมากเป็นลำดับที่ 3 รองจากประเทศเวียดนาม และประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการนำเข้า 16.33% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเดียวกันจากทั่วโลก สำหรับการนำเข้าที่ใช้สิทธิ์ GSP ดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยได้รับการลดภาษีนำเข้าประเทศสหรัฐฯ จากเดิมที่ประเทศไทยต้องเสียภาษีนำเข้าอยู่ที่ 4.9% (MFN Rate) ก็ลดลงเหลือ 0%
นอกจากนี้ ยังมีสินค้าสำคัญอื่นๆ ของประเทศไทยที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์ GSP ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯค่อนข้างสูง โดยสินค้าอันดับ 1 ยังคงเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ และสินค้าอื่นๆ เช่น กรดมะนาวหรือกรดซิทริก อาหารปรุงแต่ง กระเป๋าเดินทาง ถุงมือยางเพื่อการแพทย์ และเลนส์แว่นตา เป็นต้น
ส่วนโครงการ GSP ของสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) สินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง เช่น เพชรพลอยรูปพรรณทำด้วยโลหะมีค่า (สวิตเซอร์แลนด์) ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหรือเครื่องดื่ม (สวิตเซอร์แลนด์) หน้าปัดนาฬิกาชนิดคล็อกหรือวอตซ์ (สวิตเซอร์แลนด์) ข้าวโพดหวาน (นอร์เวย์) สูทของสตรีหรือเด็กหญิงทำด้วยขนแกะหรือขนละเอียดของสัตว์ (นอร์เวย์) เนื้อสัตว์แปรรูป (นอร์เวย์) สับปะรดกระป๋อง ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช หรือ CIS)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี