นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี หรือ BCPG เปิดเผยว่าในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าการลงทุนไว้ที่ประมาณ 14,000 ล้านบาท โดย 60% หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท ใช้ในการพัฒนาโครงการต่างๆ ที่อยู่ในพอร์ตให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ ส่วนอีก 40% หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในโครงการใหม่โดยทิศทางการดำเนินงาน บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งและความเติบโตของธุรกิจหลัก (Core Business)โดยในปี 2567 บริษัท คาดว่า EBITDA (กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) จะเติบโต 30%
ทั้งนี้ในปีหน้า จะมุ่งเน้นลงทุนใหม่ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่บริษัทมีฟุตพริ้นท์อยู่แล้ว และเป็นประเทศที่รัฐบาลให้การสนับสนุน อีกทั้งยังศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าสู่ธุรกิจที่เป็น New S Curve เช่น ธุรกิจกักเก็บพลังงานทั้งสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสำหรับโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียว และธุรกิจการบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ
สำหรับธุรกิจระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ บริษัทได้มีการต่อยอดการใช้งานระบบกักเก็บพลังงานสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ประเภทวานาเดียมรีดอกซ์โฟลว์ในประเทศไทย โดยการติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานดังกล่าว ให้กับสถานีไฟฟ้าย่อยของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบสายส่ง-สายจำหน่ายของ กฟภ.ในพื้นที่ห่างไกล
“ปัจจุบันบริษัทได้รับอนุมัติให้เริ่มดำเนินการในโครงการนำร่องดังกล่าว ในเขตพื้นที่อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ ภายปี 2567 โดยถือเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายตลาดในประเทศไทยหลังจากที่บริษัทได้ร่วมลงทุนในบริษัท วีอาร์บีเอ็นเนอยี่ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการผลิตและจำหน่ายระบบกักเก็บพลังงานระดับโลก ซึ่งมีตลาดใหญ่อยู่ในประเทศจีน” นายนิวัติกล่าว
นายนิวัติกล่าวว่า ในปี 2573 หรือ อีก 7 ปีข้างหน้า บีซีพีจี มีแผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวใน 3 ด้าน ได้แก่ มีรายได้สุทธิจากการลงทุน 3,000 ล้านบาท รวมถึงมีกำลังการผลิตที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวม 2,000 เมกะวัตต์ (Operating Capacity)และได้รับการรับรองความเป็นกลางทางคาร์บอน
สำหรับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจปี 2567 ประกอบด้วย 1.ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังไม่ดี อัตราดอกเบี้ยยังคงสูง ก่อให้เกิดต้นทุนด้านการเงินและกระทบต่อผลตอบแทน และการกู้เงิน 2.ราคาเชื้อเพลิงที่ยังคงมีความผันผวนทั้ง น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าค่าเอฟทีที่เพิ่มขึ้นดีจะดีกับบริษัท แต่บางโครงการจะมีต้นทุนค่าขนส่ง และ 3.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังเกิดขึ้น จะยังคงเป็นความเสี่ยงที่ขยายวงกว้างขึ้น
นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลลดอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (วิลลิ่งชาร์จ) ปัจจุบันอยู่ที่ 1.60 บาทต่อหน่วย เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองทั้งเอกชนและภาคประชาชนนำไฟฟ้าส่วนเกินที่เหลือในระบบประมาณ30-40% ขายเข้าระบบ จะทำให้ลดวงเงินลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้จำนวนมาก นอกจากนี้จะทำให้ประชาชนลดต้นทุนค่าไฟ จากปัจจุบันรัฐบาลลดอัตราค่าไฟเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ประชาชนได้ประโยชน์ก็จริง แต่ค่าไฟดังกล่าวไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริงที่สูงกว่าค่าไฟอัตราดังกล่าวมาก ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระแทนประชาชน ซึ่งภาระดังกล่าวสุดท้ายต้องส่งกลับเข้าไปในค่าไฟหลังจากนี้อยู่ดี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี