ปับลิซีส เซเปียนท์ ชี้ไทยมีความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์และมีโอกาสเติบโตของธุรกิจบนแอปฯ ครบวงจร (Super App) แนะ 3 ข้อปลดล็อกศักยภาพ เกาะติดเทรนด์เศรษฐกิจดิจิทัล และปัจจัยนหนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่กว่า 90% นิยมทำธุรกรรมผ่านมือถือ
นายไทเลอร์ มิวนอซ หุ้นส่วนอาวุโสประจำภูมิภาคอาเซียน บริษัท ปับลิซีส เซเปียนท์ หนึ่งในบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกด้านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจที่เกิดจากซูเปอร์แอป (Super App) หรือคือแอปพลิเคชันขนาดใหญ่ของธุรกิจบนมือถือที่ครอบคลุมทุกบริการและโซลูชันอันหลากหลายรวมทุกอย่างเข้าไว้ด้วยกัน มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดในประเทศไทย ด้วยจุดเด่นที่ผู้ใช้งานสามารถทำกิจกรรมทุกอย่างได้ครบจบภายในแพลตฟอร์มหรือระบบนิเวศเดียว ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย
แนวโน้มดังกล่าว สอดคล้องกับทิศทางที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง มียอดตัวเลขของเศรษฐกิจด้านดิจิทัลสูงเกือบ 1 ใน 5 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคาดว่าจะมีมูลค่า 53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปีพ.ศ. 2568 และมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 15% อีกทั้ง มีการเติบโตของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 90% โดยมีผู้ใช้เกือบ 90% ทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ
ทั้งนี้ อัตราความนิยมใช้งานประเภทดิจิทัลที่สูงขึ้น ผนวกกับความต้องการใช้บริการต่างๆ ผ่านช่องทางบนมือถือก่อนช่องทางประเภทอื่น (Mobile-first services) มากขึ้น ส่งให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์อย่างยิ่งยวดหากจะพัฒนาและใช้ประโยชน์จาก Super App ในการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า และสร้างประสิทธิภาพของระบบให้ดียิ่งขึ้น
“การใช้ Super App ที่องค์กรได้รวบรวมบูรณาการบริการที่หลากหลายไว้ในแพลตฟอร์มเดียว จะช่วยองค์กรลดต้นทุนของการให้บริการสำหรับลูกค้าปลายทาง อีกทั้งเปิดโอกาสในการสร้างแหล่งรายได้ใหม่มากมายนอกเหนือจากบริการหลักที่องค์กรมีอยู่ เราจึงเห็นว่า Super App จะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น สอดคล้องไปกับยุทธศาสตร์การเร่งใช้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเพื่อเปิดรับการขยายของภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมด้วยเช่นกัน” นายไทเลอร์ กล่าว
โดยมีคำแนะนำสำคัญ 3 ประการ ที่ช่วยองค์กรกำหนดแนวทางอันเหมาะสมและประสบความสำเร็จใน Super App ได้แก่ 1.ระบุเป้าหมายแห่งชัยชนะด้วยผลิตภัณฑ์ซึ่งเหมาะกับตลาดที่แท้จริงและรูปแบบธุรกิจที่มีศักยภาพ จัดทำวัตถุประสงค์เชิงพาณิชย์ที่จะใช้ขับเคลื่อนโครงการ Super App ขององค์กร ที่ครอบคลุมการเพิ่มโอกาสเติบโต ปกป้องส่วนแบ่งการตลาด ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และภูมิทัศน์ของพันธมิตรเป้าหมาย ตลอดจนแนวทางด้านกฎระเบียบที่มีผลกระทบกับธุรกิจ เป็นต้น
2.กำหนดเส้นทางในการสร้างผลิตภัณฑ์ตั้งต้น (Minimum Viable Product: MVP) ที่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะใช้งานได้ เพื่อสร้างต้นแบบอย่างรวดเร็วและทดสอบแนวคิดซ้ำๆ เพื่อรวบรวมคำติชมและปรับปรุง โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญภายในองค์กรและความร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มต่างๆ และทดสอบกับตลาดที่รวดเร็ว
และ 3.ใช้ AI และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning : ML) สร้างประสบการณ์ที่เหมาะกับความต้องการของผู้ใช้งาน เพราะในการสร้าง Super App ที่ประสบความสำเร็จนั้น องค์กรต่างๆ จะต้องเข้าใจพฤติกรรมและความชื่นชอบของลูกค้า เพื่อสร้างคำแนะนำและบริการที่เหมาะให้แต่ละบุคคลได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มการมีส่วนร่วมและความภักดีของลูกค้า ซึ่งสามารถทำได้โดยการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงประวัติการซื้อของลูกค้า พฤติกรรมการเรียกดู คำค้นหา และตัวชี้วัดอื่นๆ และจะส่งผลช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถเตรียมตัวสร้างระบบการแนะนำแบบเฉพาะตัว (Hyper-personalized recommendation systems) ที่ตรงกับลูกค้ามากขึ้น โดยจะสามารถทำนายรูปแบบการบริโภคของลูกค้า และการวิเคราะห์กิจกรรมของลูกค้าได้อีกด้วย
- 006
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี