นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือภาพรวมเศรษฐกิจไทยว่าในไตรมาส 3 ปี 2566 เศรษฐกิจขยายตัว 1.5% ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับการขยายตัว 1.8% ในไตรมาส 2 ของปี 2566 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2566 ขยายตัวจากไตรมาส 2 ปี 2566ที่ 0.8% รวม 9 เดือนแรกของปี 2566 ขยายตัว 1.9% โดยการใช้จ่ายการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูงการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกสินค้า การอุปโภคของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงต่อเนื่องด้านการผลิต สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวในเกณฑ์สูงสาขาเกษตรกรรม สาขาการขายส่งและการขายปลีก และสาขาการก่อสร้างขยายตัว ส่วนสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2566 ขยายตัว 2.5% จากประมาณการเดิม 2.5-3% แต่ก็ยังเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่ขยายตัว 2.6% อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.0% ของ GDP
สำหรับปี 2567 คาดว่าจะขยายตัว 2.7-3.7% ปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออก การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3.2% และ 2.8% ตามลำดับมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 3.8%ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.7-2.7% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ของ GDP
“การประเมิน GDP ปี 2567 ยังไม่รวมโครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท เพราะต้องรอดูความชัดเจนผลการพิจารณาของกฤษฎีกา จากแผนกู้เงินผ่าน พ.ร.บ. เงินกู้ 5 แสนล้านบาท โดยมองว่า การกระตุ้นเศษฐกิจให้เติบโตยั่งยืนควรปรับโครงสร้างภาคการผลิตและอุตสาหกรรม การขยายตลาดส่งออก เนื่องจากไทยพึ่งพาจากทั้งสองปัจจัยเป็นหลัก เพราะมองว่าการกระตุ้นการบริโภค ด้วยการใช้เงินดิจิทัลกระตุ้นการใช้จ่าย อาจหมดแรงส่งได้ และการโอนเงินดิจิทัล วอลเล็ต ต้องมีเงินหนุนหลังในจำนวนเท่ากับจำนวนที่ใช้จ่ายออกไป จึงต้องลุ้นว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร”
สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 และในปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ 1.การดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประเทศ 2.การเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบและใช้ประโยชน์จากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
3.การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าให้กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเร่งรัดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่ยังขยายตัวดีและการสร้างตลาดใหม่ ใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรี การอำนวยความสะดวกและลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก
4.การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดย การแก้ไขปัญหาอุปสรรคที่สำคัญต่อการลงทุน การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกผ่านยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด
5.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง 6.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกรโดย การป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตและใช้ปุ๋ย วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศ
7.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยเร่งรัดเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจในช่วงที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี