นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าเกษตร รวมทั้งนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้อง พบว่า ญี่ปุ่นกำลังดำเนินโครงการนำร่องติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรกลุ่มผักและผลไม้สดเพื่อสื่อสารความพยายามลดก๊าซเรือนกระจกของเกษตรกรและผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคโดยคาดว่าจะใช้ระบบการติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนเมษายน 2567 รวมทั้งจะขยายกลุ่มสินค้าให้ครอบคลุมกลุ่มปศุสัตว์ ได้แก่ โคนม โคเนื้อและสุกร ด้วย ทั้งนี้การดำเนินการข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระบบอาหารยั่งยืน (Strategy for Sustainable Food Systems) หรือ “ยุทธศาสตร์ MIDORI” (MIDORI ภาษาญี่ปุ่น แปลว่า สีเขียว) ของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง ประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries :MAFF) ที่ออกมาเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 โดยการส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน เป็นหนึ่งในเป้าหมายของยุทธศาสตร์ดังกล่าว
สำหรับการติดฉลากลดก๊าซเรือนกระจกในสินค้าเกษตรกลุ่มผักและผลไม้สด ครอบคลุมสินค้า 23 รายการ ได้แก่ ข้าว มะเขือเทศ มะเขือเทศ เชอร์รี่แตงกวา มะเขือยาว ผักโขม ต้นหอม หัวหอม ผักกาดขาวปลีกะหล่ำปลี ผักกาดหอม หัวไชเท้าแครอท หน่อไม้ฝรั่ง แอปเปิ้ลส้มแมนดาริน องุ่น ลูกแพร์ญี่ปุ่น ลูกพีช สตรอว์เบอร์รี่ มันฝรั่ง มันเทศ และชา ปัจจุบันมีร้านค้าทั้งร้านค้าปลีกและร้านอาหารเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ จำนวน 271 แห่ง (ข้อมูล ณ กันยายน 2566)
“ปัจจุบันตลาดคู่ค้าที่สำคัญของไทยกำลังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการบริโภคสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ญี่ปุ่น ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเป็นตลาดรองรับสินค้าที่มีฉลากลดก๊าซเรือนกระจกเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความตระหนักต่อการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ จึงควรปรับปรุงการเพาะปลูกและกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยควรเริ่มเก็บข้อมูลการเพาะปลูกเพื่อคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขอรับรองฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์เพื่อเป็นข้อมูลให้กับตลาดคู่ค้าที่ให้ความสำคัญและต้องการสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
สำหรับปี 2566 ช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม -กันยายน) ไทยส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่น รวมมูลค่า 18,856.94ล้านเหรียญสหรัฐ (643,053.3 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยสินค้ากลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร มีมูลค่ารวม 3,685.79 ล้านเหรียญสหรัฐ (125,765.4 ล้านบาท)หดตัวร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นทั้งหมด สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรส่งออกไปญี่ปุ่นที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ไก่แปรรูป มีมูลค่าส่งออก1,023.78 ล้านเหรียญสหรัฐ (34,937.0 ล้านบาท)(2) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 504.03 ล้านเหรียญสหรัฐ (17,195.2 ล้านบาท) และ (3) ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง 321.88 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,987.9 ล้านบาท) ส่วนสินค้าผักสด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มีมูลค่าส่งรวม 70.12 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,390.3 ล้านบาท) และผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง 17.20 ล้านเหรียญสหรัฐ (587.2 ล้านบาท)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี