“เงินสดช่องซ้าย สแกนจ่ายช่องขวา ใบละ 25 บาท 4 ใบ 100” เสียงประกาศจากทีมงานที่แต่งองค์ทรงเครื่องด้วยชุดไทยสวยงามในร้านของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในงานกาชาด 2566 ณ สวนลุมพินี ระหว่างวันที่ 8 – 18 ธ.ค. 2566 เวลา 11.00 – 22.00 น. เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมกิจกรรม “สอยดาว” ซึ่งออกแบบให้เป็นรูป “ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 รูปแบบใหม่” ชิงรางวัลมากมายทุกวัน ทั้งสร้อยคอทองคำหนัก 50 สตางค์ สมาร์ททีวี เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ และต้องบอกว่า “บูธนี้แจกจริง..รางวัลใหญ่ออกเร็วไม่มีกั๊ก” และอีกไฮไลท์ที่สำคัญคือกิจกรรมการประมูลผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 ทั้งแบบออนไซต์ที่เวทีด้านหน้าร้านของ กฟผ. และผ่านแพลตฟอร์มประมูลออนไลน์ กฟผ. www.egatrcbidding.com ร่วมกับศิลปินชื่อดัง อาทิ แม้ก กรธัสส์ ภณ ณวัสน์ คริส พีรวัส แจ็คกี้ ชาเคอลีน เด่นคุณ งามเนตร
สำหรับร้าน กฟผ. ในปีนี้ จัดขึ้นในชื่อ “รื่นรมย์สุขฤดี 100 ปี ไฟฟ้าไทย” สอดคล้องไปกับธีมการเฉลิมฉลอง 100 ปี ของการจัดงานกาชาด “งานวันกาชาด 100 ปี รื่นรมย์สุขฤดี ณ ที่แห่งการให้” โดยมีการจัดแสดงนิทรรศการหัวข้อ “100 ปี กิจการไฟฟ้า” บอกเล่าประวัติศาสตร์ห้วงเวลากว่า 1 ศตวรรษ การพัฒนาระบบไฟฟ้าของไทย จากก้าวแรกในปี 2527 นับตั้งแต่หลอดไฟฟ้าดวงแรกส่องแสงสว่างไสว ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2427 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)
ระบบไฟฟ้าเริ่มเป็นที่แพร่หลายในวงกว้างมากขึ้น นับตั้งแต่ปี 2441 เมื่อมีการก่อตั้ง “โรงไฟฟ้าวัดเลียบ” ณ บริเวณข้างวัดราชบูรณราชวรวิหาร (วัดเลียบ) นับเป็นโรงไฟฟ้าของเอกชนแห่งแรกของไทย จากนั้นเมื่อล่วงเข้าสู่รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้มีการก่อสร้าง “โรงไฟฟ้าสามเสน” ถือเป็นโรงไฟฟ้าของรัฐแห่งแรกของไทย
ต่อมาในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) กิจการไฟฟ้าได้เริ่มขยายไปในจังหวัดอื่นๆ นอกกรุงเทพฯ (พระนครและธนบุรี) เช่น ราชบุรี นครปฐม ปราจีนบุรี ภูเก็ต นครนายก ชลบุรี จันทบุรี เชียงใหม่ กระทั่งมาถึงปี 2512 ที่ กฟผ. ได้ถือกำเนิดขึ้น และมีบทบาทหลักในการดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนพัฒนาและส่งเสริมพลังงานไฟฟ้าทางเลือก ตามเทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
ร้าน กฟผ. ถูกออกแบบให้เหมือนกับอาคารสถาปัตยกรรมทรงโคโลเนียล (Colonial Style) ภายในนอกจากจะมีนิทรรศการทั้งแบบบอร์ดและโฮโลแกรม 3 มิติแล้ว ยังเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสอยดาวที่ออกแบบให้เป็นซุ้มทรง “รถรางไฟฟ้า” ระบบขนส่งสาธารณะที่สะท้อนความทันสมัยของกรุงรัตนโกสินทร์ในยุคก่อกำเนิดของกิจการไฟฟ้าในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการ “กฟผ. กับสภากาชาดไทย” บอกเล่าบทบาทของ กฟผ. ในการสนับสนุนภารกิจของสภากาชาดไทย ขณะที่ภายนอกจำลองความเป็น “ตรอกชุมชน” มีงานสตรีทอาร์ตสวยๆ เป็นภาพวาดเล่าเรื่องวิวัฒนาการกิจการไฟฟ้าของไทยให้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก พร้อมช็อปสินค้าผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นรอบเขตเขื่อนของ กฟผ.
ด้วยการจัดร้านที่สวยงาม มีสไตล์เด่นชัด และหลักการออกแบบร้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รองรับอารยสถาปัตย์ พร้อมแนวคิดที่สอดคล้องกับการจัดงานกาชาด 100 ปี ส่งผลให้ ร้าน กฟผ. ได้รับโล่รางวัลประกาศเกียรติคุณของสภากาชาดไทย จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลชนะเลิศ ในการประกวดร้านงานกาชาด ประจำปี 2566 ประเภทหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ และเอกชน
กฟผ. มีส่วนร่วมในกิจกรรมงานกาชาดมาตลอด โดยเงินรายได้จากการออกร้านค้าภายในงานหลังจากหักค่าใช้จ่ายจะถูกนำไปสมทบทุนสภากาชาดไทย เพื่อใช้ในกิจการของสภากาชาดไทยในการช่วยเหลือสังคมต่อไป เรียกว่า มาที่บูธ กฟผ. จะได้ทั้งความสนุก ลุ้นรับของรางวัล และได้ร่วม “ทำบุญ” สมทบทุนกับทางสภากาชาดไทยอีกด้วย
สำหรับร้าน กฟผ. ในงานกาชาด จะอยู่ในโซน 7 (หน่วยงานด้านพลังงาน) หมายเลขร้าน 7.1 ทางเข้าที่ใกล้ที่สุดจะอยู่ที่ประตู 1 มาร่วมลุ้นรางวัล ช็อปผลิตภัณฑ์ชุมชน ถ่ายรูปเก๋ๆ กับสตรีทอาร์ต และยังได้ทำบุญไปพร้อมกัน ตั้งแต่วันนี้ถึง 18 ธันวาคม 2566!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี