รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจกล่าวถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค(Consumer Confidence Index : CCI) ประจำเดือนธันวาคม 2566 ปรับตัวจากระดับ 60.9 เป็น 62.0เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 46 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เป็นต้นมา สาเหตุจากผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลและรัฐบาลจัดทำนโยบายลดค่าครองชีพโดยลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ตลอดจนมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ และผู้บริโภคเห็นว่าการเมืองไทยจะมีเสถียรภาพมากขึ้นในอนาคตหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลสลายขั้วการเมืองต่างๆ ที่มีความเห็นแตกต่างกันโดยที่ความขัดแย้งทางการเมืองน่าจะคลี่คลายลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ
“ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 56.0 58.7 และ 71.3 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5ทุกรายการ เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนพฤศจิกายน ที่อยู่ในระดับ 55.1 57.6 และ 69.9 ตามลำดับ แสดงว่า ผู้บริโภคเริ่มกลับมามีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นตัวได้หลังมีการจัดตั้งรัฐบาล”
อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวล ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงเพราะสงครามในตะวันออกกลางที่อาจยืดเยื้อบานปลาย ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลกซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
รศ.ดร.ธนวรรธน์กล่าวอีกว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วในปี 2567 ภายใต้นโยบายที่ได้ประกาศไว้ ดังนั้น สิ่งที่หลายฝ่ายกังวลใจเกี่ยวกับส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้และฝากนั้น โดยดอกเบี้ยนโยบายไทยอยู่ที่ 2.5% ถือว่าเป็นดอกเบี้ยในจุดสมดุล สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ สอดคล้องกับดอกเบี้ยเงินฝากที่ 0.50-1% ดอกเบี้ยเงินออมระยะยาวและหุ้นกู้อยู่ที่ 3% เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อความมั่นคงของประเทศ โดยหากธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาให้มีความเหมาะสมกันได้ต่อไป
สำหรับความคิดเห็นของภาคธุรกิจ จากสมาชิกหอการค้าไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือนธันวาคม 2566 ที่ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 19 เดือน อยู่ที่ระดับ 54.7 ตามค่าดัชนีที่ลดลงในทุกภูมิภาค เนื่องจากภาคธุรกิจกังวลปัญหาสงครามในอิสราเอล และกังวลสถานการณ์ในอนาคต ทั้งภัยแล้ง ปัญหา PM2.5 ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ปัญหาขาดสภาพคล่อง ปัญหาการเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี’67 ล่าช้า และมองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ยังน้อยเกินไป ทำให้เศรษฐกิจยังโตไม่โดดเด่น แต่ยังเกินระดับค่ากลาง 50 ติดต่อกัน 9 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 แสดงว่ายังมองเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นต้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี