นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ.เปิดเผยว่าในกรณีที่เอกชนที่อยากให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับ 3.60 บาทต่อหน่วยและในระยะยาวไม่เกิน 3 บาทต่อหน่วยนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เนื่องจากปัจจุบันหากมองการดำเนินตามโครงสร้างเดิมต้นทุนค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ระดับ 4.30 บาทต่อหน่วยแล้ว และล่าสุดที่มีการปรับโครงสร้างก๊าซฯ จึงทำให้ค่าไฟขยับลงมาที่ 4.20 บาทต่อหน่วย อีกทั้งงวดปัจจุบันมีเงินค่าปรับ จากผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบก๊าซได้ตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Shortfall) จำนวน 4,300 ล้านบาทเข้ามาช่วย จึงทำให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับ 4.18 บาท ต่อหน่วยได้ ซึ่งงวดที่ 2 จะไม่มีเงินตรงนี้ และจะขึ้นอยู่กับว่าก๊าซในอ่าวไทยจะทำได้เท่าไหร่ รวมถึงก๊าซฯ จากพม่าจะหายหรือไม่ ดังนั้น หากยืนเงื่อนไขตามงวดปัจจุบันต้นทุนจะอยู่ในระดับ 4.20 บาทต่อหน่วย
“การเอาราคา 3 บาท กว่าๆ คงยาก เพราะเรารื้อโครงสร้างก๊าซจนไม่รู้จะรื้ออย่างไรแล้ว หากจะทำให้ค่าไฟลดลงอีก อาจจะต้องมีคนขาดทุน หรือต้องแยกการเก็บค่าไฟเป็นพื้นที่ อย่างในกรุงเทพฯ จะมีราคาถูกกว่าต่างจังหวัดที่มีต้นทุนจากการเดินสายส่งไปสูงกว่า ซึ่งต้องถามว่าจะยอมแยกหรือไม่ เพื่อให้คนกรุงเทพฯจ่ายถูกกว่า นอกจากนี้ยังต้องดูเรื่องต้นทุนที่ถูกบวกเข้าไปเป็นค่าไฟแฝงด้วย อย่างเช่น ค่าไฟฟรี 50 หน่วย หรือไฟฟ้าตามทางหลวง และถนนสาธารณะประชาชนก็ยังต้องจ่ายอยู่” นายคมกฤช กล่าว
สำหรับแนวโน้มค่าไฟฟ้าทั้งปี 2567 ที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องการที่จะตรึงให้อยู่ในระดับ 4.20 บาทต่อหน่วยนั้น ต้องติดตามปัจจัยอื่นๆ เข้ามาสนับสนุน เนื่องจากงวดหน้าไม่มี Shortfall แล้ว แต่หากก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณมาในระบบครบ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซจากแหล่งพม่ายังมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องรวมถึงราคานำเข้าก๊าซธรรมชาติจากตลาดจร(LNG Spot) อยู่ในระดับ 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ก็อาจจะสามารถตรึงอยู่พอได้แต่ก็ต้องดูว่า จะได้จริงเท่าไหร่ และสามารถคืนหนี้กฟผ. เท่าไหร่ มีนโยบายไหนเข้ามาสนับสนุนอีก
“ครม.ให้อิงราคาโครงสร้างนี้ไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ต้องยอมรับว่าโครงสร้างราคาก๊าซฯ มีการคุยกันมานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่เข้าครม. ดังนั้นการปรับราคาค่าไฟงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 2567 ที่ 4.18 บาทต่อหน่วยครั้งนี้กระทรวงพลังงานมีความเป็นห่วงทั้งเรื่องราคา LNG spot และจะต้องดูว่าปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่ปัจจุบันตัวเลขก็ยังไม่ชัดเจน”นายคมกฤช กล่าว
ทั้งนี้ ครม.ให้ไปศึกษาทั้งต้นทุน ปริมาณก๊าซฯ ว่าจะเป็นเท่าไหร่ และภาระที่ต้องคืนเงินให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ด้วย จึงต้องหารือในภาคนโยบายกับกระทรวงพลังงานเพื่อให้ กฟผ. กระทบน้อยสุด ดังนั้นตัวเลขภาระกฟผ. งวดก.ย.-ธ.ค. 2566 น่าจะออกช่วงเดือนมี.ค. นี้ หากดูคร่าวๆ น่าจะอยู่หลักหมื่นล้าน อาจส่งผลให้ภาระที่กฟผ. จะต้องรับสะสมในระดับ 1.1-1.2 แสนล้านบาท จากที่กฟผ. เคยรับภาระสูงสุดที่ 150,268 ล้านบาท ในงวดก.ย.-ธ.ค.2565 สำหรับคำถามที่หลายคนมองว่าช่วงนี้ราคานำเข้า LNG ถูกลง ทำไมไม่รีบสต๊อก ปัญหาคือ ประเทศไทยมีถังเก็บไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันมีแค่ 4 ถัง โดยช่วงที่ขาดก๊าซ 3 วัน หมดไป 1 ถัง โดยปีที่ผ่านมานำเข้าเฉพาะ LNG spot อย่างเดียวกว่า 90 ลำ โดยคาดว่าปี 2567 ตัวเลขจะใกล้เคียงกัน ซึ่งไม่รวมสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาวอีก 55 ล้านตัน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี