‘สุริยะ’กางแผนเชิงรุกขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมปี 67-68 เดินหน้า 150 โครงการ‘บก-น้ำ-ราง –อากาศ’ จ่อสร้างใหม่ปีนี้ 31 โครงการ พร้อมเปิดเมกะโปรเจกต์ปี 68 รวม 13 โครงการ มุ่งเน้นระบบราง-ฮับการบินภูมิภาค ยกระดับขนส่ง-โลจิสติกส์ กระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มความสะดวกปลอดภัยการเดินทาง
31 มกราคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้ดำเนินการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ปี 2567 - 2568 โดยมีเป้าหมายผลักดันทุกโครงการให้เป็นรูปธรรม รวมถึงจัดทำแผนเพิ่มเติม สอดรับกับกรอบนโยบายของรัฐบาล และนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมและทุกหน่วยงานในสังกัดฯ พร้อมที่จะดำเนินงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อผลักดันภาพรวมเศรษฐกิจ มุ่งเน้นความปลอดภัย พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตให้ที่ดีขึ้น
สำหรับภาพรวมการลงทุนด้านคมนาคมในปี 2567 - 2568 นั้น มีจำนวนโครงการรวมทั้งสิ้น 150 โครงการ แบ่งเป็น โครงการที่จะเปิดให้บริการภายในปี 2567 จำนวน 64 โครงการ และโครงการที่จะเริ่มก่อสร้างอีกจำนวน 31 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 389,750 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2568 มีโครงการใหม่อีกจำนวน 57 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 263,016 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวของปี 2568 นั้น มีโครงการขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าลงทุนสูงเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 13 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 254,183 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในด้านการพัฒนาทุกมิติด้านคมนาคมและการขนส่ง แบ่งเป็น การพัฒนาการขนส่งทางถนน โดยกระทรวงคมนาคมจะเร่งรัดการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และทางพิเศษ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง กระตุ้นเศรษฐกิจและเชื่อมโยงโครงข่ายสู่เมืองหลักในภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มเศรษฐกิจฐานราก โดยพัฒนาโครงข่ายถนนสายรองและสะพาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ชุมชน รองรับสินค้าเกษตรกรรมและสนับสนุนการท่องเที่ยวด้วย
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า เมื่อมาแยกรายละเอียดโครงการมิติทางถนน พบว่า มีโครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 18 โครงการ เช่น มอเตอร์เวย์ M81 สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี, มอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน – สระบุรี – นครราชสีมา, สะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) จ.บึงกาฬ เป็นต้น ส่วนโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 13 โครงการ เช่น มอเตอร์เวย์ M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ตอนบางบัวทอง – บางปะอิน มอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยาย M7 เชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ทางพิเศษฉลองรัช ส่วนต่อขยาย (ช่วงจตุโชติ - ลำลูกกา) ทางพิเศษจังหวัดภูเก็ต ตอนกะทู้ – ป่าตอง เป็นต้น และโครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 24 โครงการ เช่น ก่อสร้างทางแนวใหม่เชื่อม M6 - ทล.32 ก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก แห่งที่ 2 ที่ อ.สุไหงโกลก - รันเตาปันยัง จ.นราธิวาส โครงการพัฒนาถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3 (ทล.121) เป็นต้น
ขณะที่ การพัฒนาการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคมได้ให้ความสำคัญการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและสนับสนุนการขนส่งสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพการกระจายสินค้า รวมทั้งการกำกับดูแลและยกระดับการให้บริการ การกำกับมาตรฐานความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ และมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยโครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 11 โครงการ เช่น การพัฒนาระบบการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) ของ ขบ. จำนวน 29 เส้นทาง และ ของ บขส. จำนวน 21 เส้นทาง เป็นต้น
ด้านโครงการใหม่ที่จะเริ่มในปี 2567 จำนวน 8 โครงการ เช่น การผลักดันรถโดยสารพลังงานสะอาด ของ ขบ. ขสมก. และ บขส. และโครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 7 โครงการ เช่น โครงการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า ของ บขส. จำนวน 75 คัน เป็นต้น
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ด้านการพัฒนาการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ และโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 รถไฟความเร็วสูงและโครงข่ายการขนส่งสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้บริการได้ตรงเวลา และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าและการเดินทางของประชาชน รวมทั้งผลักดันการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการให้บริการระบบการขนส่งทางราง โดยโครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 9 โครงการ เช่น รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม - หัวหิน ช่วงหัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร เป็นต้น ส่วนโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 6 โครงการ เช่น รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต - มธ. ศูนย์รังสิต รถไฟชานเมืองสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา รถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช รถไฟทางคู่ ช่วง ชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี เป็นต้น
โครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 10 โครงการ เช่น การจัดหารถจักรและล้อเลื่อนเพื่อรองรับรถไฟทางคู่ การศึกษาจัดทำมาตรฐานเขตระบบรถขนส่งทางรางและเขตปลอดภัยระบบรถขนส่ง การจัดทำกฎหมายลำดับรองภายใต้ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... เป็นต้น
นอกจากนี้ ในด้านการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ได้เน้นย้ำให้ขยายขีดความสามารถการขนส่งทางน้ำ โดยการเปิดประตูการค้าทางน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือ เร่งการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และการพัฒนาท่าเรือในภูมิภาค รวมทั้งการปรับปรุงท่าเรือโดยสารอัจฉริยะ (Smart Pier) โดยโครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 8 โครงการ เช่น พัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) จำนวน 4 ท่า ได้แก่ ท่าเรือพระราม 7 ท่าเรือปากเกร็ด จ.นนทบุรี ท่าเรือพระปิ่นเกล้า ท่าเรือพระราม 5 เป็นต้น ส่วนโครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 2 โครงการ เช่น พัฒนาท่าเรือภูมิภาคเชื่อมโยงกระบี่ - พังงา - ภูเก็ต (วงแหวนอันดามัน) ได้แก่ ท่าเรือมาเนาะห์ และท่าเรือช่องหลาด จ.พังงา เป็นต้น และโครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 8 โครงการ เช่น พัฒนาท่าเรือวงแหวนอันดามัน เพิ่มอีกจำนวน 2 ท่า ได้แก่ ท่าเรือท่าเลน จ.กระบี่ และท่าเรืออ่าวปอ จ.ภูเก็ต พัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier) เพิ่มอีกจำนวน 15 ท่า เป็นต้น
ขณะที่ การพัฒนาการขนส่งทางอากาศ ได้เร่งรัดการเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานหลักของประเทศให้รองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น และขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค หรือ Aviation Hub รวมทั้งพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้มีคุณภาพและมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการของอุตสาหกรรมการบิน โดยโครงการที่จะเปิดให้บริการ ปี 2567 จำนวน 18 โครงการ เช่น ทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง อาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 3 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ท่าอากาศยานกระบี่ เป็นต้น โครงการใหม่ที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 จำนวน 2 โครงการ เช่น ก่อสร้างส่วนต่อขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด้านทิศตะวันออก เป็นต้น และโครงการใหม่ในปี 2568 จำนวน 8 โครงการ เช่น ก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน ท่าอากาศยานชุมพร ซ่อมบำรุงเสริมผิวทางวิ่ง ทางขับ ท่าอากาศยานกระบี่ เป็นต้น
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ในปี 2568 กระทรวงคมนาคมมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects) ที่มีมูลค่าลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 13 โครงการ และมีมูลค่าลงทุนรวม 254,183 ล้านบาท ได้แก่ มิติการขนส่งทางถนน เช่น โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ด้านทิศใต้, โครงการทางแยกต่างระดับสันป่าตอง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่, โครงการพัฒนาถนนวงแหวนรอบเมืองเชียงใหม่ รอบที่ 3 (ทล.121) และโครงการต่อเชื่อมถนนนครอินทร์ - ศาลายา ด้านมิติการขนส่งทางบก ได้แก่ โครงการสถานีขนส่งสินค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนมิติการขนส่งทางราง ได้แก่ แผนการจัดหารถจักรและล้อเลื่อนเพื่อรองรับรถไฟทางคู่ ขณะที่ มิติการขนส่งทางน้ำ ได้แก่ ขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำเศรษฐกิจ จำนวน 10 แห่ง เป็นต้น และมิติการขนส่งทางอากาศ ได้แก่ โครงการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง ขยายทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่น ๆ ของท่าอากาศยานชุมพร
อย่างไรก็ตาม ในปี 2568 กระทรวงคมนาคมจะเร่งลงทุนโครงการฯ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบราง และโครงการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงโครงการแก้ปัญหา Missing Link และโครงการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง ลดอุบัติเหตุในการขนส่ง ได้แก่ มิติระบบราง จะเร่งลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ตามกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน (Timeline) ดังนี้
เร่งลงทุนก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565 – 2569) จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 1,479 กิโลเมตร (กม.) และเร่งรัดการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และบ้านไผ่ - มุกดาหาร – นครพนม ให้แล้วเสร็จตามแผน
ขณะเดียวกัน จากนโยบาย Visa Free ของรัฐบาล คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยจำนวนมากนั้น ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนา Gateway ทางอากาศ โดยมีโครงการ Quick Win ในด้านการพัฒนาปรับปรุงอาคาร ท่าอากาศยาน ให้มีความสะอาด ปลอดภัย สร้างความสะดวก ให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพอาคารผู้โดยสาร และทางวิ่ง (Runway) ให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยกระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถทางด้านอากาศ เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Aviation Hub นอกจากนี้ ในปี 2567 - 2568 กระทรวงคมนาคมยังได้กำหนดแผนงานแลพโครงการขยายขีดความสามารถการขนส่งทางน้ำด้วย อาทิ การเร่งรัดการพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา (Smart Pier), การพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) สนับสนุนการท่องเที่ยว และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะเร่งรัดงานก่อสร้างเพื่อให้เปิดบริการได้ในปี 2574
นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันหารือและได้นำประเด็น และปัญหาของประชาชนในด้านคมนาคมมาคมนาคม และหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยจัดทำเป็น Action Plan เพื่อกำหนดการดำเนินงานและเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน ในการพัฒนาระบบคมนาคมทั้งทางถนน ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้ประชาชนได้รับความสะดวก ความปลอดภัยในการเดินทาง และเสียค่าใช้จ่ายในราคาที่เหมาะสม รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย
-005
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี