ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดย นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และ โฆษก ธปท. พร้อมทีมผู้บริหาร ธปท.ร่วมกันแถลงข่าวภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 แล้ว แต่ยังโตต่ำและฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมิติ GDP และการส่งออกสินค้า ซึ่งเป็นผลจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักรระยะสั้นและเชิงโครงสร้าง โดยปัจจัยเชิงวัฏจักร ในระยะหลัง เศรษฐกิจโลกขยายตัวจากภาคบริการเป็นหลัก ขณะที่ภาคการผลิตชะลอตัวลง เห็นได้จากเครื่องชี้ภาคการผลิตของโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ชะลอตัวต่อเนื่องมา 14 เดือน ขณะที่เครื่องชี้ภาคบริการขยายตัวต่อเนื่อง 11 เดือน เศรษฐกิจโลกที่โตจากภาคบริการส่งผลให้การส่งออกสินค้าทั่วโลกในปีก่อนหดตัว รวมถึงการส่งออกไทย โดยเฉพาะหมวดเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี และหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแม้จะเป็นปัจจัยที่ทุกประเทศต้องเผชิญ แต่การส่งออกสินค้าของไทยกลับโตต่ำกว่าเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง และเป็นอาการที่ส่อถึงการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งต้องรีบแก้ไข
สำหรับปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยในหลาย sector สะสมมานาน และเริ่มเห็นผลรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก 2 ส่วน คือ 1. สินค้าที่ไทยเคยทำได้ดี แต่กลับสูญเสียความสามารถในการแข่งขันต่อเนื่อง และ 2. สินค้าที่ได้รับผลกระทบจากกระแสโลกใหม่ที่มาเร็วและแรงกว่าคาด อย่างกระแสดิจิทัล ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก และกระแสความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ประกอบการไทยเสี่ยงที่จะปรับตามไม่ทัน จนซ้ำเติมความสามารถในการแข่งขันของไทยให้ลดลงไปอีก
ทั้งนี้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในบางสาขาที่เคยทำได้ดีมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น ภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่ผลผลิตต่อไร่ของไทยค่อนข้างทรงตัวนานกว่า 20 ปี ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวของไทยลดลงจาก 25% ในปี 2546 มาอยู่ที่ 13% ในปี 2565 โดยไทยเสียแชมป์และกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดียตั้งแต่ปี 2555 ส่วนผลผลิตกุ้ง ส่วนแบ่งตลาดส่งออกกุ้งของไทยลดลงจาก 14% ในปี 2555 มาอยู่ที่ 4% ในปี 2565 จากต้นทุน การผลิตที่สูงกว่าคู่แข่งอย่างเอกวาดอร์และอินเดีย นอกจากนี้ การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว และระยะหลังยังถูกจีนและเวียดนามตีตลาดจนส่วนแบ่งตลาดเหลือเพียง 0.8% ในปี 2565 ขณะเดียวกัน สินค้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในไทยก็ถูกแทนที่จากสินค้าจีน
นอกจากนี้กระแสโลกใหม่จะทำให้การบริโภค การค้า และการลงทุนของโลกเปลี่ยนไป หากผู้ผลิตไทยปรับตัวไม่ทัน จะยิ่งทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น กระแส Digital : ทั่วโลกต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งไทยเสี่ยงตกขบวนทั้งภาคสินค้าและภาคบริการ เพราะไทยส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่ม (value added) ต่ำ ซึ่งไม่ค่อยเป็นที่ต้องการแล้ว และยังไม่ได้ผลิตชิ้นส่วนเกี่ยวกับ AI จึงได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์น้อย สะท้อนจากการส่งออกในหมวดนี้โตต่ำเพียง 4% ในช่วง10 ปีที่ผ่านมา เทียบกับเวียดนามที่โต 37% ฟิลิปปินส์โต 14% และมาเลเซียโต 10%
ขณะที่ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่แบ่งขั้วที่ชัดเจนขึ้นทำให้รูปแบบการค้าของโลกเปลี่ยนไป จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก หันมาพึ่งตนเองมากขึ้น เช่น ลดการนำเข้า ซึ่งกระทบการส่งออกสินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าหมวดเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี การส่งออกของไทยในหมวดนี้ไปจีนจึงหดตัวติดกัน 2 ปีล่าสุด อีกทั้งจีนยังพยายามหาตลาดส่งออกใหม่ๆ มาทดแทนสหรัฐฯ ทำให้สินค้าจีนเข้ามาเจาะตลาดในประเทศกลุ่มอาเซียนมากขึ้นในระยะหลัง ส่วนภาคบริการ จีนส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น ทำให้กระทบภาคท่องเที่ยวไทยสูง
ส่วนเศรษฐกิจสีเขียวที่แม้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่เริ่มปรับตัวไปแล้ว แต่ SMEs ที่มีสายป่านสั้น ยังปรับตัวได้ยาก โดยเกือบ 30% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมไทย (ยานยนต์ ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี) ได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องปรับตัวเพื่อรองรับกระแสความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ภายใต้โลกใหม่ที่เปลี่ยนเร็วและมีการแข่งขันสูง หากปรับตัวไม่ทัน เศรษฐกิจไทยจะโตช้าลงและจะแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ สิ่งที่ควรเร่งทำ คือ การปรับกฎกติกาจากภาครัฐ เพื่อลดต้นทุนการทำธุรกิจจากกฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อน ลดอุปสรรคการดำเนินธุรกิจ (ease of doing business) และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ควบคู่กับการปฏิรูปนโยบายเชิงโครงสร้าง (supply-side reform) ที่สำคัญ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ให้เข้าถึงได้ง่าย โดยมีต้นทุนเหมาะสมการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสร้าง value added การพัฒนาและปรับทักษะแรงงาน (upskill and reskill) ให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัล ซึ่งต้องใช้เวลาและอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในการยกระดับศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี