‘กนง.’มีมติ 5 ต่อ 2
คงดอกเบี้ยนโยบาย
อัตรา 2.50 % ต่อปี
นายกฯไม่เห็นด้วย
กนง.มีมติ 5 ต่อ 2 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากภาคการส่งออกและการผลิต เนื่องจากอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า ด้าน‘เศรษฐา’ไม่เห็นด้วย แต่ไม่มีสิทธิไปก้าวก่าย
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ว่า คณะกรรมการ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี
นายปิติกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี2567มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง จากภาคการส่งออกและการผลิต เนื่องจากอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างกระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าที่ประเมินไว้ แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้
คณะกรรมการ ประเมินว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลงแ ละผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่การบริโภคยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
ขณะที่กรรมการ2ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลง จากปัจจัยเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปลายปี2566 ขยายตัวชะลอลงกว่าคาดจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวช้าตามภาวะการค้าโลก และสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ทำให้รายรับต่อคนน้อยกว่าในอดีต และการลงทุนภาครัฐที่ลดลงในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีล่าช้า แรงส่งทางเศรษฐกิจที่ลดลงในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ปรับลดลงและคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.5-3%
โดยการบริโภคภาคเอกชน และภาคการท่องเที่ยว ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ขณะที่การส่งออกและการผลิตมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์โลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด มองไปข้างหน้า ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเป็นอุปสรรคมากขึ้น หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้
จากปัจจัยด้านอุปทานทั้งราคาอาหารสดและราคาพลังงาน รวมทั้งการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ โดยราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้างแต่สะท้อนปัจจัยเฉพาะในบางกลุ่มสินค้า และหากหักผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงเป็นบวก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% ก่อนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในปีหน้า ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงเดิม
ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน ผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง
สำหรับการระดมทุน ผ่านตลาดตราสารหนี้โดยรวม ยังดำเนินการได้ตามปกติ แม้มีผู้ออกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงบางรายระดมทุนทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน (rollover) ได้ไม่เต็มจำนวน คณะกรรมการฯให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพสินเชื่อของ SMEs และครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังฟื้นตัวช้า โดยสนับสนุนนโยบายของ ธปท.ที่ผลักดันให้สถาบันการเงิน ดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม(Responsible Lending)
ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชน ผ่าน ธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม ภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยรวมยังได้รับสินเชื่อใหม่ต่อเนื่อง ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อลดลงเล็กน้อยจากการชำระคืนหนี้เป็นหลัก ผู้ประกอบการในภาพรวม ยังสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ แม้การฟื้นตัวของรายได้เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปและต้นทุนวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กในบางอุตสาหกรรมอาจเผชิญภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวตามความระมัดระวังของสถาบันการเงิน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2567 อ่อนค่าสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาค ตามการคาดการณ์ทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ เป็นสำคัญ ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการประเมินว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงเป็นผลมาจากปัจจัยต่างประเทศและปัญหาเชิงโครงสร้าง
ขณะที่อุปสงค์ในประเทศ มีแรงส่งต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อ มีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว อย่างไรก็ดี คณะกรรมการเห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าจากปัจจัยวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมาระบุว่าถึงเวลาลดดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อติดลบ 4 เดือน ไม่มีความเสี่ยง เรื่องเงินเฟ้อ มองลดดอกเบี้ย ช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย “ถ้าลดดอกเบี้ยจาก 2.50 % เป็น 2.25 % ก็ยังมีพื้นที่อีกเยอะ ถ้าเกิดวิกฤติ ก็ยังลดดอกเบี้ยลงอีกได้ ย้ำว่า ยังมีพื้นที่อีกเยอะวันนี้ทำไมเราถึงไม่เริ่มทำกัน”พร้อมระบุว่า ตอนนี้จะเป็นปัญหาเงินฝืดแล้ว เพราะฉะนั้นการลดดอกเบี้ยถึงเวลาและก็ฝากไว้ให้คณะกรรมการการเงินที่เกี่ยวข้องต้องไปประชุมกัน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังให้สัมภาษณ์กรณีกนง.มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปีเพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างว่าก็ต้องน้อมรับว่าเป็นหน้าที่ของเขา เราไม่มีสิทธิไปก้าวก่ายอะไร หน้าที่ของตนคือให้ข้อคิดเห็นในฝ่ายรัฐบาลว่าควรจะทำอย่างไรบ้าง ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอยู่ตรงไหน แต่ผลโหวตออกมาอย่างนั้นรัฐบาลไปก้าวก่ายไม่ได้
“ถามว่าเห็นด้วยไหม คงไม่เห็นด้วย ทาง กนง.มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายด้านการเงิน แต่เราเองก็อยากเห็นอย่างที่ตนเคยเรียนและที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์เคยบอกว่า เราอยากเห็นนโยบายการเงินการคลังเดินไปด้วยกัน เพราะตอนนี้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกัน 4 เดือนแล้ว”นายกฯย้ำ
เมื่อถามว่า การประชุม กนง.ครั้งนี้ดอกเบี้ยไม่ลด การประชุมครั้งหน้า คาดหวังว่า ดอกเบี้ยจะลดใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็ต้องดูตัวเลขไปเรื่อย ๆตนไม่ได้มีธงว่า ต้องลดหรืออะไร เพราะตัวเลขมันออกมาตลอดเวลา
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี