นายฉมาดนัย มากนวล นักวิเคราะห์จาก Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทยเปิดเผยว่า กรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567มี มติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% ต่อปี นั้น Krungthai COMPASS มองว่า กนง. ส่งสัญญาณถึงท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ประเมินว่าจะยังไม่ปรับทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะอันใกล้ ในการประชุมครั้งล่าสุด กนง. มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มอ่อนแอลง สะท้อนจากการปรับตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ลงจากเดิมที่ 3.2% (ณ เดือนพ.ย. 2566) ลงสู่ช่วง 2.5-3.0% (ค่ากลาง 2.8) จากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและจีนซึ่งฟื้นช้ากว่าคาด รวมทั้ง “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ซึ่งเป็นอุปสรรคที่จำกัดการเติบโตและเป็นปัจจัยที่สร้างความไม่แน่นอนระยะข้างหน้า
ในด้านอัตราเงินเฟ้อ กนง.ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 โดยมองว่ามีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำที่ 1.0% จากเดิมที่ 2.0% (ณ เดือนพ.ย. 2566) พร้อมทั้งระบุว่าเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันยังไม่สะท้อนภาวะเงินฝืดเนื่องจากราคาไม่ได้ปรับลดเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ประเมินว่า กนง. จะยังไม่เร่งปรับทิศทางของการดำเนินนโยบายการเงินและจำเป็นต้องรอความชัดเจนของข้อมูลต่างๆในระยะต่อไปเนื่องจากเศรษฐกิจยังอยู่ในทิศทางขยายตัว ขณะที่มีความเสี่ยงซึ่งอาจกดดันให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นได้ในอนาคต อีกทั้งยังต้องติดตามการปรับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักในต่างประเทศ นอกจากนี้ กนง. ยังสื่อสารว่าการลดดอกเบี้ยไม่สามารถแก้ “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ได้ จึงคาดการณ์ว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อไป ส่วนการลดอัตราดอกเบี้ยนั้นมีความเป็นไปได้มากขึ้นและจำเป็นต้องติดตามท่าที กนง. และพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่อไปอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าคาด ตามอุปสงค์ของโลกและเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นได้ช้ารวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยแรงส่งทางเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2566 ที่ลดลงส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ปรับลดลงและคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.5-3.0% ประเมินว่าการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงกว่าที่ประเมินไว้ แต่อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% ลดลงกว่าที่เคยประเมินไว้จากปัจจัยด้านอุปทานทั้งราคาอาหารสดและราคาพลังงาน รวมทั้งการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ราคาสินค้าจึงไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้างแต่เป็นผลจากปัจจัยเฉพาะในบางกลุ่มสินค้า ทั้งนี้ ยังต้องติดตามความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงาน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อราคาสินค้าเกษตร และความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาค่าครองชีพ
ส่วนมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนโดยเฉพาะมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม(Responsible Lending) ซึ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดูแลคุณภาพสินเชื่อของ SMEs และครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังฟื้นตัวช้า ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมทรงตัว ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์และตลาดตราสารหนี้ใกล้เคียงเดิม ภาคธุรกิจและครัวเรือนโดยรวมยังได้รับสินเชื่อใหม่ต่อเนื่อง
ขณะที่ SCB EIC ธ.ไทยพาณิชย์ คาดว่ากนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.5% ไว้ตลอดปี 2024 (รูปที่ 1) โดยมองว่า กนง. จะพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไปข้างหน้าในระยะปานกลางถึงระยะยาว (Forward looking)มากกว่าตัวเลขที่เกิดขึ้นแล้ว (Backward looking) หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยในระยะต่อไปยังเป็นไปตามที่ SCB EIC เคยคาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ต่อเนื่องใกล้เคียงระดับศักยภาพที่ 3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทยอยปรับสูงขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 1-3% ได้ กนง. จะยังมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบัน ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว (Neutralrate) ตามที่ กนง. สื่อสารไว้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับการดูแล SMEs และครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่ภาระหนี้สูงและรายได้ฟื้นตัวช้า กนง. ยังมีแนวโน้มสนับสนุนการใช้มาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน มากกว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เป็นมาตรการแบบครอบคลุมและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปเติบโตชะลอลงกว่าประมาณการที่ กนง. ประเมินไว้ตามผลประชุมครั้งนี้อย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงติดลบต่อเนื่องและกระจายไปในสินค้าและบริการเป็นวงกว้างมากขึ้น กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชัดเจนขึ้น อาจส่งผลให้ กนง. ต้องเริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อให้นโยบายการเงินสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่อาจไม่เป็นไปตามคาดได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี