นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนมกราคม 2567มีมูลค่า 22,649.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 784,580.4ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกันและสูงสุดในรอบ 19 เดือน นับจากเดือนมิถุนายน 2565 ที่เพิ่มขึ้น 11.7%การนำเข้ามีมูลค่า 25,407.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.5% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 890,687.4 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 2,757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 106,106.9 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เป็นการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 9.2% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 14% และอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 3.8% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ยางพารา ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องดื่ม ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร ผักกระป๋องและผักแปรรูป ผักสดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ส่วนสินค้าที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 10.3% เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด
ทางด้านตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า การฟื้นตัวของการค้าโลก และการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิต โดยตลาดหลัก เพิ่ม 10.5% ได้แก่ สหรัฐฯ เพิ่ม 13.7% จีน เพิ่ม 2.1% ญี่ปุ่น เพิ่ม 1% สหภาพยุโรป (27) เพิ่ม 4.5%อาเซียน (5) เพิ่ม 18.1% และ CLMVเพิ่ม 16.6% ตลาดรอง เพิ่ม 8.8% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 0.04% ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 27.2% ตะวันออกกลาง เพิ่ม 2.9%รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 64.6% ส่วนตลาดที่ลดลง เช่น แอฟริกาลด 24.2% ลาตินอเมริกา ลด 4% และสหราชอาณาจักร ลด 1.6% ตลาดอื่นๆ เพิ่ม 11.2% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์เพิ่ม 5.1%
สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 การส่งออกไทยยังคงได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าตามภาวะเงินเฟ้อโลกที่เริ่มชะลอตัวการได้รับอานิสงส์จากมาตรการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหารของหลายประเทศ และจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคที่มีความเข้มแข็งขณะที่ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางยังไม่ส่งผลกระทบทางตรงต่อไทยมากนัก
“ค่าระวางเรือที่กลับมาลดลง เกิดจากในช่วงนั้นจีนเร่งส่งออกก่อนปิดเทศกาลตรุษจีนในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้น เดือนมกราคมทุกคนมีความต้องการตู้ส่งสินค้าสูงกว่าปริมาณตู้ที่มี ประกอบกับติดขัดในเรื่องทะเลแดง ทำให้ความต้องการพุ่งขึ้น 5-6 เท่าตัว แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย ทำให้ค่าระวางเรือค่อยๆลดลงมา แต่ภาพรวมตอนนี้ยังสูงกว่าช่วงก่อนเกิดความขัดแย้งทะเลแดง”
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคการขนส่งที่เกิดจากความขัดแย้งดังกล่าว ส่งผลในทางอ้อมทำให้อัตราค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้น และอาจทำให้เศรษฐกิจคู่ค้ามีความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในอนาคต ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอาจจะยังมีความผันผวน จากทิศทางการปรับเปลี่ยนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการติดตามประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการทำงานในการผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2567 ที่ 1-2% หากจะทำให้ได้ตามเป้า การส่งออกแต่ละเดือนจะต้องมีมูลค่า 24,009-24,358 ล้านเหรียญสหรัฐ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี