nn ตอนนี้พูดถึงเศรษฐกิจไทยก็ไม่มีใครกล้าพูดว่ามัน“อู้ฟู่”สมกับเป็นรัฐบาลของเพื่อไทย...แต่ก็ต้องบอกว่าอย่างนี้ครับว่ารัฐบาลนั้นยังมีเวลาเหลืออีกเยอะในการพิสูจน์ฝีมือ...ในการทำให้เศรษฐกิจมันดีด้วยการเดินหน้าลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออัดเม็ดเงินเข้าระบบ(นอกจากความจะดึงดันอัดเม็ดเงินร้อนๆจาก Digital Wallet)...
แม้ว่าตอนนี้ยังไม่มีเม็ดเงินงบประมาณในมือ แต่โครงการเดิมที่มีอยู่ก็ควรจะเร่งผลักดันก็ได้นี่ครับ..เช่นว่า 1.โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย -จีน ที่ เฟส 1 กรุงเทพฯ-โคราช ระยะทาง 253 กม. ยัง “อืดเป็นเรือเกลือ”เปิดหวูดก่อสร้างกันมากว่า 6 ปีเพิ่งจะมีความคืบหน้าไปได้แค่สัญญาเดียว(จาก 14 สัญญา) หรือคืบหน้าแค่ 20-25% เท่านั้น...ขืนยังปล่อยไปตามยถากรรมแบบนี้ ไม่ต้องไปฝันถึงโครงการในเฟส 2 โคราช-หนองคาย ระยะทาง 356 กม.ที่จะไปเชื่อมกับรถไฟความเร็วสูง ลาว-จีน ที่เริ่มต้นก่อสร้างมาพร้อมกับประเทศไทยเราแต่ของเขานั้นเปิดให้บริการกันไปแล้วตั้งแต่ปลายปีก่อน 2565
2.โครงการรถไฟความเร็วสูง “ไฮสปีดเทรน” เชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24 แสนล้าน ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ให้สัมปทานแก่ บริษัท เอเชีย เอราวัน จำกัด ของกลุ่มทุนเจ้าสัวซีพี ตั้งแต่ปีมะโว้ 2562 แต่ผ่านมาจนวันนี้กว่า 4 ปีเข้าไปแล้ว ก็ยังไม่เริ่มต้นก่อสร้างทำท่าจะเจริญรอยตามโครงการโฮปเวลล์ในอดีตไปอีกโครงการ 3. โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก2.9 แสนล้าน อีกโครงการเมกะโปรเจกท์ในมือกระทรวงคมนาคมที่ยังคงรอความชัดเจนด้านนโยบายจากรัฐบาล รวมทั้งความชัดเจนของกระทรวงคมนาคมต่อการผลักดันท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 คือ สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก
4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มูลค่า 1.42 แสนล้านของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เปิดประมูลกันมาตั้งแต่ปี’63 ผ่านมากว่า 3 ปีก็ยังปิดบัญชีไม่ลงแม้รฟม.จะตั้งแท่นเสนอผลประกวดราคา ที่อ้างว่าบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ชนะประมูลเพื่อให้กระทรวงคมนาคม เสนอผลประกวดราคาต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เสียที แต่จนแล้วจนรอดผ่านมากว่า 5 เดือน กระทรวงคมนาคมก็ยังไม่กล้าตัดสินใจสักที 5. อีกเมกะโปรเจกท์ ที่สามารถ Drive เศรษฐกิจให้เติบโตไปได้ โดยที่รัฐบาลไม่ต้องลงทุนก็คือ การผลักดันอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้เดินหน้าเต็มสูบเช่นในอดีตเมื่อปี 2563 ที่มีการจัดประมูลคลื่นความถี่ 5G ใน 3 คลื่นหลักคือ700 MHz, 260 MHz และ 26 GHz ที่ไม่เพียงจะนำเงินเข้ารัฐได้มากกว่า 1 แสนล้านบาททั้งยังก่อให้เกิดการลงทุนในโครงขายโทรคมนาคม 5G ตามมาอีกนับแสนล้าน แต่หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ชุดปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่ แทนที่อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม จะเติบใหญ่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจก็กลับฉุดรั้งให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไร้ทิศไร้ทางการปรับโครงสร้างองค์กรกำกับดูแล เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการไหลบ่าเข้ามาของ Platform ใหม่ๆ ที่ควรจะเกิดขึ้นนานแล้วยังคงไม่มีความคืบหน้า การแสวงหาหนทางในอันที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ยังคงไม่เกิดขึ้น..ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพราะองค์กรกำกับดูแลคือ กสทช.เต็มไปด้วยความขัดแย้ง...
ส่วนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ “แลนด์บริดจ์” มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทนั้น ยังเป็นเรื่องไกลตัวที่รัฐจะทุ่มเทลงไปให้การสนับสนุนในเวลานี้ เอาแค่หวนกลับมาผลักดันโครงการที่มีอยู่เต็มหน้าตัก 5 โครงการข้างต้นเหล่านี้ ให้เป็นรูปธรรม ก็สามารถสร้าง competitiveness ของประเทศไทย เสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ หลังจากที่ห่างหายไปนานนับ 10 ปี ทั้งยังจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนที่เป็น FDI อย่างแท้จริง หลังจาก ที่ในระยะหลายปีที่ผ่านมานั้น การลงทุนเริ่มบ่ายหน้าไปยัง เวียดนาม และอินโดนีเซียก่อนไทย
พงษ์พันธุ์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี