มหาวิทยาลัยกรุงเทพร่วมกับ สสว. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากฐานรากสู่สากล
8 มีนาคม 2567 รศ.ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พร้อมด้วย ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU) ในการพัฒนาศักยภาพและการเชื่อมโยงเนื้อหาเรียนรู้เพื่อผู้ประกอบการ ระหว่างสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กับ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ โดยมี ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการ สสว. และ รศ.ดร.ณัฐภพ นิ่มปิติวัน รองอธิการบดีสายวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษา ม.กรุงเทพ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม 1801 ชั้น 18 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อาคารทีเอสที ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
การพัฒนาประเทศภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในทุกมิติได้สร้างความพลิกผันและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโดยรวม ผู้ประกอบการมีความต้องการที่จะเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ และการพัฒนาทักษะใหม่ในการดำเนินธุรกิจเพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงและได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล จำเป็นต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ รวมถึงความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ เติมเต็มและยกระดับศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขันในโลกธุรกิจในอนาคตโดยเฉพาะในช่วงยุคหลังโควิด 19 ที่เศรษฐกิจและสังคมมีความผันผวนสูง จึงได้จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพและการเชื่อมโยงเนื้อหาเรียนรู้เพื่อผู้ประกอบการ ในวันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 08.30-10.30 น. ณ ห้องประชุม 1801 ชั้น 18 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อาคารทีเอสที ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพฯ
ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาโมเดลการเรียนรู้แบบใหม่ (New Synergy Model) พัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ทักษะด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ (Creative Innovation) ในการขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากฐานรากสู่สากลอย่างครบวงจร และลดช่องว่างทางการศึกษากับอุตสาหกรรมธุรกิจทุกรูปแบบ ด้วยการส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ระหว่างวิชาการ วิชาชีพ วิชาชีวิต เสริมทักษะความรู้ กับการทำงานจริงของผู้ประกอบการ สู่การยกระดับศักยภาพและความสามารถทางการแข่งขันในโลกธุรกิจระดับสากล
ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต รองอธิการบดีอาวุโสด้านวิชาการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า “จากการสำรวจข้อมูลของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งมีการสำรวจจัดทำดัชนีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ (ESI Index) และมีการเก็บผลมาอย่างต่อเนื่องกว่า 2 ปี ผลสำรวจนับตั้งแต่สถานการณ์โควิด จนถึงล่าสุดในไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้ประกอบการมีความกังวลและต้องการได้รับความสนับสนุนใน 3 อันดับ ได้แก่ องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งทุน ความร่วมมือระหว่าง สสว. และมหาวิทยาลัยกรุงเทพนี้ จะเป็นการส่งต่อสิ่งที่มหาวิทยาลัยมีความพร้อม ทั้งเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และองค์ความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อสร้างผู้ประกอบการที่มีความพร้อม ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยสู่ระดับสากล”
รศ. ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า “สสว. มีพันธกิจหลักในการบูรณาการและผลักดันการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความร่วมมือการพัฒนาศักยภาพและการเชื่อมโยงเนื้อหาเรียนรู้เพื่อผู้ประกอบการ และดำเนินการเชื่อมโยงเนื้อหาหลักสูตรหรือองค์ความรู้สำหรับผู้ประกอบการ MSME ผ่านระบบเรียนรู้ออนไลน์ ซึ่งเป็นระบบ e-Learning Platform (SME Academy 365) ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ อันจะทำให้ผู้ประกอบการ MSME สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้พัฒนาศักยภาพในการประกอบกิจการได้เป็นอย่างดี”
โมเดลการเรียนรู้แบบใหม่ (New Synergy Model) เป็นการผสมผสานความเชี่ยวชาญของ สสว. เข้ากับความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในด้านความคิดสร้างสรรค์ จิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการ และเทคโนโลยี โดยมีรูปแบบการเรียนรู้ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและปฏิบัติได้จริง ที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ไปประยุกต์เพื่อพัฒนาศักยภาพและการเข้าถึงโอกาสและองค์ความรู้ในการประกอบกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โมเดลการเรียนรู้แบบใหม่ ประกอบด้วย
(1) หลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบ Hybrid ที่เชื่อมต่อรูปแบบการเรียนรู้ เช่น Short Course, Pre-Degree และ Executive Course ตัวอย่างเช่น หลักสูตร Green Business Profiting with Purpose เป็นหลักสูตรระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการพลิกโฉมรูปแบบธุรกิจซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนทั้งระบบห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และ หลักสูตร Creative Thainess สำหรับผู้บริหารระดับสูง ซึ่งให้ความสำคัญกับการนำคุณค่าความเป็นไทยมาสร้างสรรค์ประสบการณ์ผ่านสินค้าและบริการในทุกสัมผัส
(2) หลักสูตรการเรียนรู้บนแพลตฟอร์ม SME Academy 365 ซึ่งให้บริการกับผู้ประกอบการโดย สสว. ด้วยเนื้อหาที่ทันสมัยตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการครบถ้วนในทุกมิติ
(3) โครงการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐผ่านช่องทาง Business Development Service (BDS) ที่เน้นไปที่ความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ความคิดสร้างสรรค์และความเป็นผู้ประกอบการที่สามารถใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้จำกัดแค่ในกลุ่มอาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นแก่นและกระบวนการทางความคิดเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ความคิดสร้างสรรค์จึงถูกนำมาเป็นแนวคิดพื้นฐานของทุกหลักสูตรการเรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัย เพื่อสร้างผู้ประกอบการที่มีความพร้อมสำหรับทุกความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี