เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2567 นายอุตตม สาวนายน ประธานกรรมการด้านนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทย ว่า ในช่วงสิบกว่าปปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าหนี้ครัวเรือนซึ่งเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยอยู่ที่ร้อยละ 76 ของ GDP ในปี 2555
จากนั้นในปี 2558 ขึ้นไปที่ร้อยละ 86 ของ GDP ซึ่งปัจจัยที่เอื้อต่อการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน เช่น การเติบโตของสินเชื่อ เพราะรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ต่อมาช่วงปี 2558-2562 หนี้ครัวเรือนค่อนข้างทรงตัว อยู่ที่ประมาณร้อยละ 82-84 ของ GDP เพราะเศรษฐกิจเริ่มโต แต่แล้วก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อีก ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 84 ของ GDP ในปี 2562 พุ่งขึ้นไปถึงเกือบร้อยละ 95 ในเวลาเพียง 1-2 ปี
แต่เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย ในปี 2565-2566 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแม้จะยังไม่เต็มที่ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ก็ยังอยู่ที่ประมาณร้อยละ 90 และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะลดลง ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ พบว่า ไทยอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา เกาหลีใต้ ซึ่งดูเหมือนจะดี อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านั้นมีโครงสร้างเศรษฐกิจต่างจากไทย และขีดความสามารถก็สูงกว่าไทย จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าในภาพใหญ่แล้วเศรษฐกิจของเราควรจะบริหารจัดการอย่างไร
“สิ่งซึ่งเราให้ความสำคัญเป็นพิเศษก็คือหนี้เพื่อการอุปโภค-บริโภค คือกู้มาแล้วเอาไปใช้ พูดง่ายๆ ด้วยความจำเป็นหรือว่าเหตุผลหลายอย่าง ตอนนี้หนี้ครัวเรือนทั้งสิ้นประมาณ 16.2 ล้านล้านบาทเศษ ที่น่าสนใจคือหนี้เพื่อการบริโภค ประมาณร้อยละ 77 มันก็ประมาณ 12.4 ล้านล้านบาท ประกอบไปด้วยบัตรเครดิต ใช้กันคล่อง ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ยังมีกู้ไปใช้อย่างอื่นที่ไม่อยู่ในกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือสถาบันใดๆ ตัวนี้อีก 3 ล้านล้านบาท” นายอุตตม กล่าว
นายอุตตม กล่าวต่อไปว่า ยังมีหนี้เช่าซื้อรถยนต์-จักรยานยนต์ หนี้เพื่อการศึกษา ซึ่งน่าสังเกตว่าหนี้เพื่อการศึกษามีจำนวนไม่สูง อยู่ที่เพียง 7 แสนกว่าล้านบาท ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ ขณะนี้หนี้ก้อนใหญ่อีกก้อนหนึ่งคือการซื้ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งก็คือซื้อที่อยู่อาศัย แต่บางส่วนอาจซื้อเพื่อเก็งกำไรก็ได้ และนอกเหนือจากหนี้เพื่อการบริโภคยังมีหนี้เพื่อการประกอบอาชีพ เช่น พ่อค้า-นักธุรกิจ กู้เงินไปใช้เป็นทุนหมุนเวียน หนี้กลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 2.9 ล้านล้านบาท และหนี้อื่นๆ อีกราว 1 ล้านล้านบาทเศษ
ซึ่งหนี้เพื่อการประกอบอาชีพหรือหนี้เพื่อสิ่งของที่จำเป็นนั้นเข้าใจได้ แต่ก็ต้องดูว่าใช้กันอย่างไร ทั้งนี้ ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ก่อนอื่นต้องรู้ก่อนว่าลูกหนี้เหล่านี้เป็นใคร อยู่ที่ไหนและกู้ไปทำอะไร แล้วแยกแยะออกมาดูว่าปัญหานั้นหนักหนาเพียงใด แต่ต้องมีเจ้าภาพดำเนินการ และต้องเป็นเจ้าภาพที่มีกำลังหรือบารมีมากพอที่จะทำได้ ให้พูดง่ายๆ ก็คือต้องเป็นวาระระดับชาติ เพราะหนี้ครัวเรือนมีขนาดใหญ่และยังมีแนวโน้มใหญ่แบบนี้ต่อเนื่อง
โดยการเป็นหนี้นั้นบั่นทอนกำลังใจในการทำมาหากินและพัฒนาตนเอง อย่างในภาคเกษตร ลำพังวันๆ หนึ่งก็ยังลำบากในขณะที่ถูกเรียกร้องให้ต้องยกระดับ และหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป ปัญหาหนี้จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเจ้าภาพการแก้ปัญหาคือรัฐบาล ส่วนผู้ปฏิบัติที่สำคัญคือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงเครือข่ายธนาคารทั้งของรัฐและเอกชน เครดิตบูโรต่างๆ ต้องระดมสรรพกำลัง เพื่อจะได้แก้ปัญหาอย่างจริงจังด้วยความเข้าใจ ดำเนินการต่อเนื่องและหวังผลได้
“ถ้าเราคิดเสียอย่างนี้ เสนอว่ามันมี 4 มิติ ที่ควรจะต้องให้มีความสมบูรณ์ เรื่องแรกคือความครอบคลุม ถ้าจะทำเรื่องนี้ก็สมควรให้เข้าถึงประชาชนทั่วประเทศและทุกภาคของเศรษฐกิจ เกษตร ค้าขาย พ่อค้าแม่ขายทั้งปวง SME เรามุ่งเน้นกลุ่มนี้ก่อน ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ เพราะเป็นหนี้ครัวเรือน ฉะนั้นครอบคลุม สองคือครบวงจร แก้ตั้งแต่ต้นทางจริงๆ ปัญหาอยู่ที่ไหน แล้วกฎระเบียบด้วยนะ ที่เป็นอยู่มันอาจจะล้าสมัยไปแล้วที่ธนาคารพาณิชย์ใช้หรือใครใช้ หรือไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงก็ต้องช่วยกันดูว่าอะไรที่ปรับให้มันเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย” นายอุตตม ระบุ
นายอุตตม ยังกล่าวอีกว่า ยังต้องมีการสนับสนุนให้ผู้กู้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นการเติมทุนให้เขาแต่ก็ต้องเติมในสิ่งที่เป็นประโยชน์ คือเป็นหนี้ได้ กู้ได้ หากนำไปประกอบอาชีพนั้นยิ่งดี ไม่ใช่นำไปใช้อุปโภค-บริโภคมากจนเกินไป แต่นอกจากการแก้หนี้และเติมทุนแล้วยังต้องเพิ่มทักษะ เพราะปัจจุบันโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คนไทยต้องมีทักษะต่างๆ เช่น ทักษะทางดิจิทัล
โดยหากมองประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ สิงคโปร์ รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนไปเรียนรู้ทักษะดิจิทัล การแก้ไขอย่างครอบคลุมและครอบวงจรจะทำให้คนที่ล้มกลับมาลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง ส่วนประการที่สามคือการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เรื่องนี้สำคัญ เพราะเมื่อลงมือทำเรื่องแก้หนี้แล้วจะมีโอกาสเก็บข้อมูลได้มหาศาล จากหนี้ 16.2 ล้านล้านบาท หากมีข้อมูลนี้ก็จะรู้พฤติกรรมการกู้เงินและการใช้เงินของคนไทย ซึ่งมีประโยชน์มากกับการตั้งเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจ การเตรียมพร้อมรับมือวิกฤติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
การเตรียมรับมือสังคมสูงวัย เพราะหากผู้สูงอายุยังเป็นหนี้อยู่มากก็เหนื่อย หรือหากลูกหลานเป็นหนี้แล้วจะดูแลพ่อแม่ได้อย่างไร ซึ่งไหนๆ ก็ส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลกันอยู่แล้ว ก็น่าจะนำมาใช้ในเรื่องนี้ด้วย และประการสุดท้ายคือการขับเคลื่อนด้วยกระบวนการที่ต่อเนื่อง ข้อนี้มีความชัดเจนอยู่ในตัวว่าหากจะทำเรื่องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้เป็นวาระระดับชาติ ความต่อเนื่องจากกลุ่มเจ้าภาพก็ต้องมี และมีการตั้งเป้าวัดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง
ด้านนายธีระชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนที่ตนจะพูดถึงคือการแก้ไขปัญหานี้ในระบบของธนาคารพาณิชย์ ส่วนธนาคารของรัฐจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไป ขณะที่ปัญหาหนี้นอกระบบนั้นรัฐบาลกำลังแก้ไขกันอยู่แล้ว โดยสิ่งที่ทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐคิดกันก็คือ 1.ทำอย่างไรจะเกิดการแชร์ภาระกันระหว่างรัฐกับธนาคารพาณิชย์ คือไม่ใช่ปล่อยรัฐรับภาระฝ่ายเดียว ธนาคารเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมด้วย 2.ทำอย่างไรจะมีความร่วมมือระหว่างลูกหนี้กับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ เพราะการช่วยแก้ปัญหาให้ลูกหนี้ย่อมเกิดประโยชน์กับธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ด้วย
ทั้งนี้ ในสมัยวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ในปี 2540 รัฐได้เข้าไปอุ้มผู้ฝากเงินทั้งระบบ ซึ่งขณะนั้นรัฐบาลเป็นหนี้ 1.44 ล้านล้านบาท และต้องจ่ายดอกเบี้ยต่อเนื่อง 4 หมื่นล้านบาททุกปี กระทรวงการคลังต้องกันงบประมาณส่วนนี้ไว้ไม่สามารถไปใช้อย่างอื่นได้ สมัยที่ตนเป็น รมว.คลัง จึงเสนอให้ออกพระราชกำหนดโอนภาระการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้ไปอยู่กับระบบธนาคารพาณิชย์ ภาระดังกล่าวจึงไปอยู่กับกองทุนฟื้นฟู มาตรการนี้ประสบความสำเร็จ จากหนี้ 1.33 ล้านล้านบาท ปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 6.2 แสนล้านบาท คือลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง
ซึ่งปัจจุบันเราต้องกลับมาพึ่งกลไกดังกล่าวอีกครั้ง โดยทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐต้องการให้ช่วยลูกหนี้รายย่อยอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำเพียงชะลอดอกเบี้ยแล้วนำดอกเบี้ยไปโปะส่วนท้าย สิ่งที่ควรเป็นคือกระตุ้นให้ลดยอดหนี้อย่างแท้จริง โดยมีข้อเสนอให้กระทรวงการคลังกำหนดเป็นนโยบาย ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกประกาศลดเงินที่ธนาคารพาณิชย์นำส่งกองทุนฟื้นฟูเป็นการชั่วคราว โดยลดลงครึ่งหนึ่ง ส่วยอีกครึ่งยังจำเป็นต้องเก็บไว้เพื่อชำระดอกเบี้ยของหนี้ที่เหลืออยู่
“หนี้ที่ลดลงครึ่งหนึ่ง ก่อนหน้านี้ต้องเรียนว่าประเทศไทยเคยใช้มาตรการนี้มาก่อนในช่วงจังหวะโควิด ก็คือสำหรับยอดเงินฝากคำนวณร้อยละ 0.23 ต่อยอดเงินฝากทุก 6 เดือน แล้วเราคิดว่าจะลดให้เป็นการชั่วคราว 5 ปี นี่คือส่วนที่รัฐยอมแบกภาระให้ ทีนี้สำหรับธนาคารที่จะเข้าร่วมโครงการ ที่จะประหยัดเงินที่ต้องจ่ายให้กับกองทุนฟื้นฟูก็มีสิทธิ์เลือกได้ จะเข้าเพื่อประหยัดก็ได้ จะไม่เข้าเพื่อไม่ประหยัดก็แล้วแต่” นายธีระชัย กล่าว
นายธีระชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับธนาคารที่จะเข้าร่วมโครงการ จะต้องยอมรับเงื่อนไขดังต่อไปนี้ 1.สำหรับลูกหนี้รายย่อย หมายถึงผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน แล้วจำเป็นต้องลดหนี้เพื่อให้เพียงพอต่อการปรัปบรุงชีวิตของลูกหนี้ ธนาคารต้องนำกำไรสะสมของตนเองมาร่วมลดหนี้ด้วยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของหนี้ที่ลด นี่คือการร่วมมือกัน รัฐบาลยอมใช้กลไกกองทุนฟื้นฟูเพื่อเข้าไปช่วยรับภาระ โดยขอให้ธนาคารใชเงินตนเองร่วมรับภาระด้วย แต่ย้ำว่าจะช่วยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยเท่านั้น
2.สำหรับลูกหนี้ที่ถูกธนาคารฟ้องคดี โดยคดีสิ้นสุดแล้วและอยู่ในขั้นบังคับคดี เช่น ยึดทรัพย์สิน ยึดหลักประกันหรือยื่นฟ้องล้มละลาย หากเป็นลูกหนี้รายย่อย ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการและได้รับสิทธิ์ประหยัดเรื่องกองทุนฟื้นฟู ต้องสละสิทธิ์การฟ้องล้มละลาย สำหรับลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ส่วนการยึดหลักประกันก็ต้องชะลอ โดยลดราคาขายลงมาในระดับที่ลูกหนี้อาจหาทางแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ เช่น ไปหาญาคิสนิทมิตรสหายมาช่วย หลักประกันนั้น เช่น บ้าน จะได้ไม่หลุดมือไป
“ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดที่เราเน้นให้ลูกหนี้กับเจ้าหนี้หาทางร่วมมือกันสร้างอนาคตใหม่ให้กับครัวเรือน” นายธีระชัย กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณเรื่องจาก
https://www.facebook.com/thirachai.phuvanatnaranubala/videos/949117826804418
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี