นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมีนาคม 2567 เท่ากับ 107.25 เทียบกับกุมภาพันธ์ 2567 เพิ่มขึ้น 0.03% เทียบกับเดือนมีนาคม 2566 ลดลง 0.47% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน สาเหตุสำคัญจากราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสุกร และผักสด เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก และฐานราคาเดือนมีนาคม 2566อยู่ในระดับสูง ส่วนราคาพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้าและน้ำมันดีเซล ยังคงต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ และเครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด ราคายังคงปรับลดลง ขณะที่สินค้าและบริการอื่นๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติและหากรวมเงินเฟ้อ 3 เดือนของปี 2567 (มกราคม-มีนาคม) ลดลง 0.79%
สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือนมีนาคม 2567 ที่ลดลง 0.47% มาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.57% ตามการลดลงของเนื้อสุกร ปลาทู ปลากะพง ผักสด เช่น มะนาว กะหล่ำปลี มะเขือเทศ เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก และฐานราคาเดือนมีนาคม 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง และน้ำมันพืช และอาหารโทรสั่ง (พิซซ่า) ที่ลดลง ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ข้าวสาร ไข่ไก่ นมสด องุ่น ส้มเขียวหวาน น้ำตาลทราย กาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารกลางวัน
ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 0.40% ตามค่ากระแสไฟฟ้า และราคาน้ำมันในกลุ่มดีเซล ที่ยังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566จากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่ยังคงดำเนินการอยู่ เสื้อผ้าบุรุษ สตรี และเสื้อผ้าเด็ก สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น รวมถึงของใช้ส่วนบุคคล เช่น ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว แป้งผัดหน้าราคาปรับลดลง ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี ยาแก้ปวดลดไข้ยาลดกรดในกระเพาะ ค่าตรวจรักษาคลินิกเอกชนค่าทัศนาจรในประเทศและต่างประเทศ บุหรี่ สุรา และไวน์
ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนมีนาคม 2567 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก ลดลง 0.01% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และเพิ่มขึ้น 0.37% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2566 เฉลี่ย 3 เดือน ปี 2567 (มกราคม-มีนาคม) เพิ่มขึ้น 0.44%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือนเมษายน 2567 มีโอกาสที่จะอยู่ทั้งฝั่งบวกและลบ ที่ประมาณ 0.1% แต่เดือนพฤษภาคมและมิถุนายนจะกลับมาเป็นบวก ทำให้ไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวเป็นบวกประมาณ 0.5-0.6% เพราะราคาน้ำมันตลาดโลก มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะเบนซิน ส่วนดีเซล ก็ต้องรอดูมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ อัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่าทำให้สินค้านำเข้าราคาสูงขึ้น ค่าไฟฟ้าฐานปีก่อนต่ำราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีแนวโน้มสูงขึ้น จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อไม่สูงขึ้นมาก เช่น ฐานที่สูงของราคาเนื้อสุกรและผักในปีที่แล้ว และปีนี้ราคามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ จากปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มต่ำกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์เดิมในช่วงต้นปี และมีการแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ การเติบโตของการค้าออนไลน์ ทำให้มีการใช้นโยบายส่งเสริมการค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง
จากปัจจัยดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 จากเดิมติดลบ 0.3% ถึงบวก1.7% ค่ากลาง 0.7% เป็นบวกระหว่าง0-1% ค่ากลาง 0.5% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี