นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 92.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 90.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีฯ พบว่ายอดขายโดยรวมคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทั้งนี้ ความเชื่อมั่นที่ปรับตัวสูงขึ้นมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่ทยอยฟื้นตัว สะท้อนจากความต้องการสินค้าอุปโภค-บริโภค และสินค้าคงทน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง และได้รับอานิสงส์จากมาตรการวีซ่าฟรีในช่วงที่ผ่านมาในด้านการส่งออกขยายตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศ คู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ อินเดียและออสเตรเลีย ขณะที่ในเดือนมีนาคมผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าก่อนวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังได้รับผลดีจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งให้กับภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังทรงตัวสูง ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศยังฟื้นตัวได้อย่างจำกัด นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนทางการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตลอดจนความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ทำให้การส่งออกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
นายเกรียงไกรกล่าวอีกว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,336 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนมีนาคม 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ( 75.0%) ราคาน้ำมัน ( 55.8%) เศรษฐกิจในประเทศ (50.2%) ส่วน ปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจโลก (78.5%) อัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (36.1%) สถานการณ์การเมืองในประเทศ (30.5%)
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 100.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ การเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 รวมถึงภาคการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นตามการขยายตัวของอุปสงค์ในตลาดโลก แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าที่ถูกนำมาใช้กับสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น อาทิ มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป เป็นต้น
ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐได้แก่ 1.ดำเนินการตามแผนงานเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2567 หลังจาก พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ประกาศใช้โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบลงทุนต่อเนื่องที่ยังค้างชำระ และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว 2.ให้ภาครัฐเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าไทยทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคเพื่อเพิ่มช่องจัดจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการและสนับสนุน Soft Power รวมถึงการจัด Roadshow แสดงสินค้าในต่างประเทศ 3.ขอให้ภาครัฐดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี