ดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 1 ปี 2567 เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวสูงขึ้น โดยมีค่าดัชนีอยู่ที่ 155.0 จุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนราคาห้องชุดเริ่มปรับตัวสูงขึ้น
นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) และรักษาการผู้อำนวนการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่เศรษฐกิจชะลอตัว และมีปัจจัยลบหลายด้าน โดยเฉพาะการยกเลิกมาตรการผ่อนปรน LTV ส่งผลกระทบต่อยอดขายโดยตรง ผู้ประกอบการจึงใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายโครงการอาคาดชุดในไตรมาส 1 ปี 2567ด้วยการให้เป็นส่วนลดเงินสดและให้ของแถม เพื่อกระตุ้นยอดขายเป็นส่วนใหญ่ โดยมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 71.3
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในรายละเอียด พบว่า ดัชนีราคาห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในไตรมาส 1 ปี 2567 เมื่อแยกตามพื้นที่ พบว่าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 157.7 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.01 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ดังนั้น ภาพรวมจึงไปในทิศทางทรงตัวค่อนไปทางขาขึ้น (Sideway-up) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สำหรับโซนที่ราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ โซนห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง ในระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท รองลงมา คือ โซนธนบุรี ในระดับราคา 3.01-5.00 ล้านบาท และโซนบางซื่อ-ดุสิต ในระดับราคา 5.01-7.00 ล้านบาท
ในขณะที่พื้นที่จังหวัดปริมณฑล การสำรวจครอบคลุมเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนนทบุรี พบว่า มีค่าดัชนีเท่ากับ 143.2 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยดัชนีรคาห้องชุดของปริมณฑลช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 แสดงให้เห็นว่าราคาห้องชุดมีทิศทางที่เริ่มปรับไปในทางขาขึ้น ไก้แก่ โซนเมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด ในระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท รองลงมา คือ โซนบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง อยู่ในระดับราคา 1.51-2.00 ล้านบาท
สำหรับรายการส่งเสริมการขายห้องชุดใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในไตรมาสนี้พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการให้ของแถม มีสัดส่วนร้อยละ 38.8 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีสัดส่วนร้อยละ 36.3 ส่วนรูปแบบการส่งเสริมการขาย เป็นการให้ส่วนลดเงินสด มีสัดส่วนร้อยละ 32.5 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 35.2 และฟรีค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ มีสัดส่วนร้อยละ 28.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 27.5
“ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัวผู้ประกอบการได้ใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายมากขึ้น เช่น การให้ส่วนลดเงินสด ของแถม และการให้ความช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ เพื่อกระตุ้นยอดขาย แต่เมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการซื้อที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างความต้องการซื้อหรืออุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมากพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะช่วยระบายอุปทานเดิมที่ยังอยู่ในราคาต้นทุนเดิมออกไปพอสมควร และเมื่อผู้ประกอบการเปิดโครงการใหม่ขึ้น ราคาที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะโครงการอาคารชุดซึ่งเป็นโครงการใหม่ ก็จะสะท้อนต้นทุนใหม่ เป็นแรงผลักดันให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งก็ทำให้ผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยต้องซื้อในราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญในการช่วยให้คนไทยสามารถซื้อที่อยู่อาศัยที่มีทิศทางราคาที่สูงขึ้น คือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สร้างการกระจายรายได้ให้ไปถึงประชาชนทุกกลุ่มที่มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้รายได้ของคนไทยมีการปรับตัวดีขึ้น และก็จะช่วยให้ประชาชนมีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยและความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อสูงขึ้น”นายวิชัย กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี