นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ โฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 บริษัท Moody’s InvestorsService (Moody’s) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย(Sovereign Credit Rating) ที่ Baa1 หรือเทียบเท่า BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1) ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความหลากหลาย อีกทั้งมีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิผล เศรษฐกิจไทยคาดว่าจะเติบโตจาก 1.9%
ในปี 2566 เป็นประมาณ 3% ในปี 2567-2568 จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว โดยปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 28ล้านคน ในปี 2566 เป็น 35 ล้านคน ในปี 2567 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 40ล้านคน ในปี 2568 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับก่อนเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Pre-pandemic) ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
นอกจากนี้การลงทุนของภาครัฐจะเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีผลบังคับใช้ อีกทั้งภาครัฐได้สนับสนุนการลงทุนของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และเพิ่มการมีส่วนร่วมในข้อตกลงการค้าเสรี
2) ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ยังมีความเข้มแข็งแม้รัฐบาลจะดำเนินนโยบายขาดดุลทางการคลังอย่างต่อเนื่อง แต่ Moody’s คาดว่าในระยะปานกลางรัฐบาลจะสามารถบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ และจะกลับเข้าสู่การดำเนินนโยบายทางการคลังอย่างระมัดระวังได้(Conservative Fiscal Policymaking) นอกจากนี้รัฐบาลยังมีความสามารถในการชำระหนี้ที่แข็งแกร่ง (Strong Debt Affordability) เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (Peers) โดยสามารถใช้เครื่องมือการระดมทุนในประเทศที่หลากหลายด้วยต้นทุนต่ำ อีกทั้งหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาทและมีอายุเฉลี่ย(Average Time to Maturity) ยาว
3) ปัจจัยสำคัญที่ Moody’s จะติดตามเพื่อวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือ(Credit Rating) ของประเทศไทย ได้แก่ ศักยภาพการผลิต (Productivity)การปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการบริหารจัดการภาระหนี้สาธารณะในระยะปานกลาง ตลอดจนการมุ่งเข้าสู่สมดุลทางการคลัง
อนึ่ง ก่อนหน้านี้บริษัท Japan Credit Rating,Ltd.(JCR)ได้ทำการประกาศคงอันดับความน่าเชื่อของประเทศไทย(Soverreign Credit Rating) ที่ระดับ A และคงมุมมองความน่าเชื่อของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยระบุว่าอันดับความเชื่อถือของประเทศไทยสะท้อนถึงปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งระบบการเงินมีเสถียรภาพ และมีความยืดหยุ่นต่อการรับมือจากผลกระทบภายนอก โดยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 และคาดว่าจะยังคงเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในปี 2567 จากการส่งออกภาคบริการและการบริโภคของภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ในระยะยาวเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากอัตราการเกิดที่ลดลงและประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น
รัฐบาลไทยได้ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมและจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการเน้นความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่สำคัญ อาทิ โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทาน ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี