นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนมีนาคม 2567 มีมูลค่า 24,960.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 10.9% กลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากฐานปีก่อนสูงมาก ส่งออกได้ถึง 28,004.2 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 892,290 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 26,123.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.6% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 944,828 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 1,163.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 52,538 ล้านบาท รวม 3 เดือนปี 2567 (มกราคม-มีนาคม) การส่งออกมีมูลค่า 70,995.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.2% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 2,504,009 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 75,470.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.8% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 2,692,023 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 4,475.2 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 188,014 ล้านบาท
การส่งออกที่ลดลงมาจากการลดลงของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 5.1% โดยสินค้าเกษตรเพิ่ม 0.1% แต่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ลด 9.9% โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ ข้าว ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์จากนม ส่วนสินค้าที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์
ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 0.3% ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ลด 12.3% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และสินค้าที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด ทั้งนี้ ไตรมาสแรกของปี 2567การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ลด 0.3%
ตลาดส่งออกสำคัญ ส่วนใหญ่หดตัวโดยตลาดหลัก ลด 9.1% หดตัวในจีน 9.7% ญี่ปุ่น 19.3% สหภาพยุโรป (27) 0.1% และอาเซียน (5) 26.1% แต่สหรัฐฯ เพิ่ม 2.5% และ CLMV เพิ่ม 0.5% ตลาดรอง ลด 4.3% โดยหดตัวในเอเชียใต้ 6.1% ตะวันออกกลาง 7.3% แอฟริกา 11.9% ลาตินอเมริกา 10.2% รัสเซียและกลุ่ม CIS 14.2% และสหราชอาณาจักร 19.3% แต่ทวีปออสเตรเลียเพิ่ม 13.5% และตลาดอื่นๆ ลด 82.3% อาทิสวิตเซอร์แลนด์ ลด 87.3%
สำหรับแนวโน้มการส่งออก เดือนเมษายน 2567มั่นใจว่าจะกลับมาเป็นบวก และไตรมาส 2 ก็มีแนวโน้มเป็นบวก ปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ ที่ขณะนี้กำลังออกสู่ตลาด คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ที่เข้าสู่การฟื้นตัว สินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์พลังงานสะอาด ที่จะส่งออกได้ดีขึ้น และยังคงยืนยันเป้าส่งออกปีนี้ที่ 1-2% หากทำได้เฉลี่ยเดือนละ 24,044 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจะขยายตัว 1% ทำได้เฉลี่ย 24,362 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน การส่งออกจะขยายตัว 2% ส่วนการขาดดุลการค้า ดูแลไม่น่าเป็นห่วง เพราะตัวหลักที่นำเข้าสูง คือสินค้าทุนและวัตถุดิบ นำเข้ารวมกัน 60% ของการนำเข้ารวม และอีกตัว คือ น้ำมัน มีสัดส่วนถึง 19%
“การส่งออกของไทย จะยังขยายตัวได้จากสินค้าเกษตรและอาหารที่ไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขัน ท่ามกลางภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลกและภาวะสงครามในบางประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารยังอยู่ในระดับสูง กระทรวงพาณิชย์เร่งผลักดันการส่งออกสู่ตลาดใหม่ๆ เพื่อชดเชยตลาดหลักที่ฟื้นตัวล่าช้า ขณะที่ยังมีปัจจัยท้าทายจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งได้ติดตามประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และจะทำงานร่วมกับทูตพาณิชย์ในแต่ละประเทศเพื่อหาแนวทางลดอุปสรรคในการส่งออกต่อไป”
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกเดือนมีนาคม 2567 แม้ติดลบมาก แต่ดูเป็นรายสินค้า ก็ไม่มีปัญหาอะไร เช่น สินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียน ปีนี้ผลผลิตออกช้ามาปลาย เดือนเมษายนทำให้ส่งออกทุเรียนชะลอ สินค้าอุตสาหกรรม อย่างยานยนต์และชิ้นส่วนก็ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนไตรมาส 2 มองว่าน่าจะ มีสินค้าไฮไลท์ ข้าว ยางพารา อาหารสัตว์ ยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพราะได้แรงหนุนจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สินค้าเกษตรยังมีศักยภาพในการส่งออก ค่าระวางเรือ ตู้สินค้าเป็นปกติแล้ว ยกเว้นมีสถานการณ์รุนแรง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี