นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 90.3 ปรับตัวลดลงจาก 92.4 ในเดือนมีนาคม 2567 โดยเป็นการปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม คำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ทั้งนี้ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงเป็นผลมาจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในประเทศ อาทิ สินค้ายานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต
ขณะที่การสิ้นสุดมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลของภาครัฐ ส่งผลให้ต้นทุนด้านพลังงานและค่าขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปัญหาภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อผลผลิตสินค้าเกษตรและทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศไทยและอาเซียน ด้านการส่งออกชะลอลงตามอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ลดลงจากปัญหาความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานในตลาดโลก รวมถึงปัญหาความไม่สงบในประเทศเมียนมาที่ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน และจากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,268 ราย ครอบคลุม 46 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในเดือนเมษายน 2567 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศรษฐกิจโลก 79.4% ราคาน้ำมัน 56.6 % เศรษฐกิจในประเทศ 56.4%สถานการณ์การเมืองในประเทศ ร40.2% อัตราแลกเปลี่ยน
ขณะที่ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.3 ปรับตัวลดลง จาก 100.8 ในเดือนมีนาคม 2567 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร และทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในการอุปโภค-บริโภค รวมถึงในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันการเข้าสู่ช่วง Low Season ของภาคการท่องเที่ยวทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง นอกจากนี้ ปัญหาความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งในตะวันออกกลางรวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครน กดดันเศรษฐกิจโลกและภาคการส่งออก
วันเดียวกัน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า สำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ จากสมาชิกหอการค้าไทยทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในเดือนเมษายน 2567 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ระดับ 55.3 แต่เป็นการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยจากระดับ55.2 ในเดือนมีนาคม โดยความเชื่อมั่นถือว่า ดีขึ้นเกินกว่าค่ากลางระดับ 50 ในทุกภูมิภาค รวมทั้งตัวชี้วัดทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจโดยรวม การบริโภค การลงทุนภาคท่องเที่ยว ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้าชายแดน และภาคบริการ รวมถึงการจ้างงาน ปรับตัวดีขึ้นแต่เป็นการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพียง 0.1-0.3%
“ถือว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ ยังคงทรงตัว เนื่องจากยังมีปัจจัยลบที่สำคัญจากต้นทุนทางการเงิน และต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความกังวลปริมาณน้ำในเขื่อน เพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค ที่อาจจะไม่เพียงพอ ขณะที่ในภาคเหนือที่เจอผลกระทบ จากฝุ่น PM2.5 และที่สำคัญผู้ประกอบการทุกภูมิภาค โดยเฉพาะในภาคใต้ มีความกังวลถึงเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนภาคบริการที่สูงแล้วให้สูงขึ้นอีก รวมถึงต้นทุนการผลิตสินค้าด้วย”
ทั้งนี้ผู้ประกอบการทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้า ต่างมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไปในทิศทางเดียวกัน คือ ออกมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงาน, เพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการและลดภาระค่าครองชีพ ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไป, เร่งบริหารจัดการน้ำให้มีใช้เพียงพอกับภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และภาคครัวเรือนรวมทั้งหาแนวทางการแก้ไขปัญหา หรือ มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ, ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจคู่ขนานกันไปด้วย ไปจนถึงการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้เหมาะสมกับการค้าการลงทุน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี