นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าสำหรับการส่งออก ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA ในช่วงเดือนมกราคม -กุมภาพันธ์ 2567 ว่า การส่งออกภายใต้ความตกลง FTA มีมูลค่ารวม 12,000.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯรวม 79.75%
โดยเป็นการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA)สูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่าการส่งออกรวม 4,821.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 76% อันดับ 2 เป็นการใช้สิทธิฯภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน (ACFTA)มูลค่า 2,611.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 85.35% อันดับ 3 ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) มูลค่า 1,229.57ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 64.83% อันดับ 4 ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) มูลค่า 1,048.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 78.97% และอันดับ 5 ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - อินเดีย (AIFTA) มูลค่า 858.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนการใช้สิทธิฯ 70.30%
ทั้งนี้ในช่วงเดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ 2567 สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกภายใต้ FTA สูงที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.ยานยนต์สำหรับขนส่งของที่น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน ภายใต้ความตกลงอาเซียน มูลค่า 350.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 2.ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ ภายใต้ความตกลงอาเซียน-จีน มูลค่า 322.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3.รถยนต์และยานยนต์อื่นๆที่มีเครื่องดีเซล หรือกึ่งดีเซล ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย มูลค่า 306.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 4.เนื้อไก่และเครื่องในไก่ที่ปรุงแต่ง ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น มูลค่า 232.46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 5.พลอยและรูปพรรณ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย มูลค่า 44.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายรณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมี FTA แล้ว 14 ฉบับ กับคู่ภาคี 18 ประเทศ แบ่งออกเป็นความตกลงทวิภาคี 6 ฉบับ และความตกลงพหุภาคีในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน 8 ฉบับ โดย FTA ฉบับล่าสุดที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมลงนาม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 คือ ความตกลงการค้าเสรีไทย - ศรีลังกา ซึ่งถือเป็น FTA ฉบับที่ 15 ของไทย โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้วเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 และคาดว่าจะผลักดันให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2567
นอกจากนี้ไทยยังอยู่ในระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอื่นๆ อีก อาทิ ความตกลง การค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป, ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) (สมาชิก EFTA ประกอบด้วยไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์),ไทย - เกาหลี และความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - แคนาดา
“กรมฯขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA เพราะจะทำให้มีแต้มต่อทางการค้า ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคากับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ มากขึ้น โดยกรมฯได้ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ผ่านการอบรมสัมมนาในเรื่องการส่งออกโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ภายใต้ FTA มาโดยตลอด”นายรณรงค์ กล่าว
สำหรับในปี 2567 นี้กรมฯจะมีการจัดงานสัมมนาอย่างต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน รวม 3 ครั้ง ภายใต้หัวข้อ “FAST, FUTURE, FREE TRADE ขยายโอกาส SME ไทยก้าวไกลด้วยสิทธิประโยชน์ทางการค้า” โดยการจัดงานสัมมนาครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2567 ที่จังหวัดชลบุรี ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก และครั้งที่ 2 จะมีขึ้นวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ที่โรงแรมราชาวดี รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล จังหวัดขอนแก่น และครั้งที่ 3 วันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่โรงแรม คุ้มภูคำจังหวัดเชียงใหม่
ส่วนในช่วงครึ่งปีหลัง 2567 กรมฯมีกำหนดจัดสัมมนาอีก 2 ครั้ง ในจังหวัดสงขลา และจังหวัดนครพนม จึงอยากขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมงานสัมมนาเพื่อรับความรู้ดีๆ จากกรมฯ โดยติดตามความคืบหน้าและสมัครเข้าร่วมงานสัมมนาได้ทางเว็บไซต์ของกรมฯที่ www.dft.go.th และ facebook : กรมการค้าต่างประเทศ DFT
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี