ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะนี้ตลาดเงินและตลาดทุนรวมถึงตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งไทยและทั่วโลกค่อนข้างจะผันผวน เนื่องจากต้องรอความชัดเจนจากการตัดสินใจของธนาคารกลางหลายชาติ ทั้งของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ธนาคารกลางยุโรป รวมทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ ท่ามกลางการเฝ้ามองเรื่องการตัดสินใจเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบายของไทย
น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บ.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะนี้น่าจะยังแกว่งตัวเป็นกรอบในระหว่างที่รอ
ผลการประชุมนโยบายการเงินของไทยและสหรัฐฯ ในช่วงกลางสัปดาห์ โดยกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์ของราคาทองคำและสกุลเงินในภูมิภาค รวมถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย(12 มิ.ย.) ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด(11-12 มิ.ย.) ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พ.ค.ของจีน (12 มิ.ย.) และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน พ.ค.ของสหรัฐฯ (12 มิ.ย.)
ขณะที่นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทอาจชะลอลงบ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองสกุลเงินต่างๆ มากนัก จนกว่าจะรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ และผลการประชุมเฟด นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดทอนแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้บ้าง และเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่ทยอยขายสินทรัพย์ไทยต่อเนื่อง แม้ว่าระดับราคา (Valuation X ของสินทรัพย์ไทยจะอยู่ในระดับที่น่าสนใจมากขึ้นก็ตามมองว่า นักลงทุนต่างชาติอาจยังคงกังวลต่อปัญหาการเมืองในประเทศอยู่ และหากปัจจัยดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลง นักลงทุนต่างชาติก็อาจทยอยกลับเข้าซื้อสินทรัพย์ไทยได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนของเงินบาทจากโฟลว์ธุรกรรมทองคำ หลังราคาทองคำยังเสี่ยงที่จะเผชิญแรงขายอยู่บ้าง จนกว่าตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐ นอกจากนี้ รายงานข้อมูลตลาดแรงงานอังกฤษที่ผู้เล่นในตลาดจะทยอยรับรู้ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น.ตามเวลาประเทศไทย (11 มิ.ย.) ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตาเช่นกัน เพราะหากข้อมูลการจ้างงานอังกฤษออกมาแย่กว่าคาด เช่น อัตราการเติบโตของค่าจ้างและการจ้างงานชะลอลงมากกว่าคาดชัดเจน ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจสามารถทยอยลดดอกเบี้ยได้เร็วขึ้นกว่าคาด ซึ่งมุมมองดังกล่าวสามารถกดดันให้เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลงและช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ได้
“เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตามการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่างมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือ เช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยกรุงไทยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.90 บาท/ดอลลาร์” นายพูนกล่าว
อนึ่ง เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มการตัดสินใจของกนง.ในวันที่ 12 มิ.ย.เกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดย กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 12 มิถุนายน 2567 คาดการณ์จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อและน่าจะคงต่อไปถึงสิ้นปี 2567 เนื่องจากยังมีนโยบายการคลัง เรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 และโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่รัฐบาลมีแผนจะผลักดันออกมาภายในไตรมาส 4 ของปีนี้ที่กนง.น่าจะรอดูว่าจะมีแรงส่งต่อภาพรวมเศรษฐกิจขนาดไหน นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงด้วย ดังนั้น จึงเก็บกระสุนไว้ก่อน เพื่อตั้งรับเศรษฐกิจในปี 2568 ที่อาจจะยังมีปัญหาชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2567 นี้ เนื่องจากยังมีปัจจัยความกังวลในการถูกปฎิเสธสินเชื่อจากธนาคารที่ยังคงอยู่ในสัดส่วนระดับสูงทั้งของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจรถยนต์ที่ยอดขายตกไปค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจึงอาจจะเห็นเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีการชะลอ
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง. 12 มิ.ย.นี้คงดอกเบี้ยแม้เงินเฟ้อเดือน พ.ค. บวก 1.54% สูงสุดในรอบ 13 เดือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่าช่วงที่เหลือของปี’67 คาดเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายของ (กนง.) และคาดว่า กนง. มีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ไปตลอดทั้งปีนี้ แม้ว่าผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ล่าสุดส่วนใหญ่มองมีโอกาสที่ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง. คงจะรอให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายก่อน จากทิศทางเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายของ กนง. ที่ 1-3% ภายในสิ้นปีนี้ ประกอบกับแรงกดดันค่าเงินบาทอ่อนค่าจากแนวโน้มการคงดอกเบี้ยสูงยาวนานกว่าคาดของเฟด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี