‘คลัง’สั่งทบทวน
ปมแจกเงินดิจิทัล
ซื้อมือถือได้หรือไม่
ย้ำใช้ทำมาหากิน
“จุลพันธ์”ระบุ ยังมีเวลา ส่งกฤษฎีกา ตีความ ล้วงเงิน ธ.ก.ส.วงเงิน 1.75 แสนล้าน ยันสภาพคล่องแน่นปึ้ก รอลุ้น“คลัง”แจงกำลังพิจารณาเคาะ“สินค้า”บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ร่วมแจม
ใช้เงิน1หมื่นดิจิทัล แจงยิบนายกฯสั่งถอย“สมาร์ทโฟน-เครื่องใช้ไฟฟ้า”ห่วงผิดวัตถุประสงค์ แต่ในส่วนคลังสั่งทบทวนพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง เงิน 1หมื่นดิจิทัล ซื้อ‘สมาร์ทโฟน’ชี้คนใช้ทำมาหากิน
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต เปิดเผยว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมว่า สินค้าที่จำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ จะสามารถเข้าร่วม โครงการดิจิทัล วอลเล็ตได้หรือไม่โดยยอมรับว่าเรื่องดังกล่าวมีทั้งข้อดี และข้อเสียที่จะต้องมาพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยข้อดี คือ สินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ มีกลไกในการการันตีชัดเจนว่าจะมีการส่งสินค้าให้กับผู้ซื้ออย่างแน่นอน ส่วนรายละเอียดต่างๆ คงต้องหารือกันเพิ่มเติม
“ตอนนี้สินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ ส่วนหนึ่ง ยังติดเรื่องการควบคุมพื้นที่ ที่จะต้องไปพิจารณาตามเงื่อนไขของโครงการ แม้ว่าที่ผ่านมาแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆจะแสดงความต้องการอยากเข้าร่วมด้วย และยืนยันว่าสามารถดำเนินการได้ตามเงื่อนไขของโครงการได้ก็ตาม ดังนั้น ณ ตอนนี้โครงสร้างของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทุกอย่างจึงยังเหมือนเดิม”รมช.การคลัง ย้ำ
นายจุลพันธุ์ยังกล่าวอีกว่าในส่วนที่ได้สั่งให้มีการทบทวนการกำหนดสินค้าที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้(Negative List)โดยเฉพาะสินค้า Import Content อาทิสมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ส่วนหนึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความกังวล เกี่ยวกับประเด็นนี้ค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน ในส่วนของคลัง ก็เห็นว่าควรจะให้มีการพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบอีกครั้ง
รมช.คลังกล่าวว่าทั้งนี้เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต มี 3 มิติคือ มิติของการผลิตและการจ้างงานในประเทศชะลอตัว, มิติของความง่ายสำหรับประชาชนในการใช้งาน ที่มองว่ายิ่งเปิดกว้างเท่าไหร่ ประชาชนก็จะยิ่งใช้งานง่ายมากขึ้นเท่านั้น และ มิติของการกำกับดูแลว่าจะสามารถควบคุมการใช้จ่ายให้เป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการได้จริงหรือไม่ ทั้งหมด ต้องมาชั่งน้ำหนักกันใหม่จึงสั่งให้ส่วนงานกลับไปทบทวนและกลับมาหารือกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า
“ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต จึงได้สั่งให้ส่วนงานกลลับไปพิจารณาประเด็นเรื่อง Import Contentใหม่โดยเฉพาะเรื่องสมาร์ทโฟนที่บางหน่วยงานก็มองว่ามันเป็นปัจจัยที่ 5 เพราะปัจจุบันคนใช้ทำมาหากิน แต่อีกมุมก็มองว่าคนที่จะใช้เงินในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ก็ต้องมีสมาร์ทโฟนก็ต้องไปพิจารณาเรื่องนี้กันใหม่ให้รอบคอบอีกครั้ง” นายจุลพันธ์ กล่าว
สำหรับประเด็น เรื่องการส่งเรื่องให้สำนักงานกฤษฎีกา พิจารณาเรื่องการนำเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จำนวน 1.75 แสนล้านบาท มาใช้รองรับการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น นายจุลพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา โดยระยะเวลาการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน มีการพิจารณาและติดตามาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้ง อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่ากลไกความเป็นรัฐมีตัวเลือกเกี่ยวกับเครื่องมือการเงินมากมาย ซึ่งมีการพิจารณาเรื่องความเหมาะสมและเป็นไปได้ทุกอย่างแล้ว
“ที่ผ่านมา ได้มีการพูดคุยกับสหภาพ ธ.ก.ส.ก็เป็นไปด้วยดี ไม่ได้มีปัญหาอะไร โดยทุกคนต้องเข้าใจว่าธ.ก.ส.เป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นลูกของรัฐ ดังนั้น กลไกในการขับเคลื่อนนโยบายที่จะลงไป ถ้าอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ก็เป็นภาระหน้าปกติที่ ธ.ก.ส. จะต้องดำเนินการช่วยเหลือประชาชน และยืนยันว่าสภาพคล่องของ ธ.ก.ส.ไม่มีปัญหาอย่างแน่นอน”รมช.คลัง ย้ำ
ด้าน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดรายการสินค้า โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ สามารถใช้ร่วมกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้หรือไม่ว่า ขณะนี้คงต้องให้คณะกรรมดิจิทัลวอลเล็ตเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งว่าสามารถใช้ซื้อมือถือได้หรือไม่ โดยกระทรวงพาณิชย์ เน้นดูแล ร้านธงฟ้าและกลุ่มเอสเอ็มอี ที่จะเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตและมีความพร้อมอยู่มากที่จะเข้าร่วมโครงการนี้.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี